กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เน้นย้ำจังหวัดประสานกองบัญชาการฯ ส่วนหน้า เร่งแก้ไขปัญหา คลี่คลายสถานการณ์ภัย และช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน ย้ำ บกปภ.ช. พร้อมสนับสนุน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกล ถุงยังชีพ และกำลังเจ้าหน้าที่แก่พื้นที่ประสบภัย ทั้งนี้ ให้เร่งสำรวจความเสียหายในพื้นที่น้ำลด เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยได้อนุมัติวงเงินทดรองราชการ (เพิ่มเติม) ใน 9 จังหวัดๆ ละ 50 ล้านบาท เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความรวดเร็วและคล่องตัว
นายชยพล ฐิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผยว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรังและหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ ทั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา และเขต 18 ภูเก็ต รวมถึงสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภาคใต้ที่ประสบอุทกภัย 10 จังหวัด ได้แก่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และระนอง โดยมีผู้แทนสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสนก.) ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพบก ร่วมประชุม ซึ่งจากการติดตามคาดการณ์ปริมาณฝน พบว่า หลายพื้นที่ยังคงมีฝนตก โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 8 มกราคม 2560 ซึ่งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้เน้นย้ำให้จังหวัดประสานการทำงานกับกองบัญชาการฯ ส่วนหน้า ณ ศูนย์ปภ.เขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา อย่างใกล้ชิด พร้อมบูรณาการหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่เร่งแก้ไขปัญหาและคลี่คลายสถานการณ์ โดยประสานการระบายน้ำลงสู่ทะเลให้สอดคล้องกับทิศทางการไหลของน้ำและลักษณะทางภูมิศาสตร์ เพื่อควบคุมสถานการณ์อุทกภัยมิให้ขยายวงกว้าง รวมถึงให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง ทั้งการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ การแจกจ่ายถุงยังชีพ การซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมและระบบการสื่อสารไม่ให้ถูกตัดขาด การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข นอกจากนี้ ได้สั่งการให้จังหวัดสำรวจสภาพปัญหา อุปสรรค และความต้องการขอรับการสนับสนุนการช่วยเหลือจาก บกปภ.ช. ทั้งด้านวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกล ถุงยังชีพ และกำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อจัดสรรตามความเหมาะสมอย่างเร่งด่วนต่อไป
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน ทำให้หลายจังหวัดประสบอุทกภัยเป็นระลอกที่ 2 และ 3 โดยผลกระทบแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก คลื่นลมในทะเลมีกำลังแรง และสภาพดิน ที่ชุ่มน้ำอยู่แล้ว จึงเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม โดยขณะนี้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 10 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลาปัตตานี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และระนอง รวม 85 อำเภอ 490 ตำบล 3,376 หมู่บ้าน 93 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 252,518 ครัวเรือน 744,422 คน โดยภาพรวมสถานการณ์ในปัจจุบันยังมีฝนตกในพื้นที่ ระดับน้ำลดลง ยกเว้นจังหวัดพัทลุง ตรัง และชุมพร ระดับน้ำเพิ่มขึ้น และนราธิวาส ระดับน้ำทรงตัว ทั้งนี้ กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานจังหวัดสำรวจความเสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ กรณีมีผู้เสียชีวิตและตรวจสอบพบว่าเป็นการเสียชีวิตจากสถานการณ์อุทกภัยให้ดำเนินการจ่ายเงินค่าจัดการศพเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตในทันที รายละไม่เกิน 25,000 บาท กรณีเป็นหัวหน้าครอบครัวจ่ายเงินช่วยเหลืออีกไม่เกิน 25,000 บาท รวมถึงให้เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการดำรงชีพ พื้นที่การเกษตร ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งสาธารณประโยชน์ ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยกระทรวงมหาดไทยได้ประสานให้กรมบัญชีกลางอนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร (เพิ่มเติม) จังหวัดละ 50 ล้านบาท อีกทั้งได้อนุมัติให้ยกเว้นหลักเกณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น หากจังหวัดใดสถานการณ์รุนแรงและขยายวงกว้าง วงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย สามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มเติมผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ท้ายนี้ ประชาชนที่ประสบอุทกภัย สามารถติดต่อขอรับการช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป