กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เน้นย้ำจังหวัดร่วมกับกองบัญชาการฯ ส่วนหน้า เร่งแก้ไขปัญหา คลี่คลายสถานการณ์ภัย และช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน พร้อมบริหารจัดการสรรพกำลัง วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกล ให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยและ ความรุนแรงของสถานการณ์ รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่ปลายน้ำ ปากแม่น้ำ ริมทะเล และที่ลาดเชิงเขาเป็นพิเศษ ควบคู่กับการประสานกรมชลประทานและหน่วยทหารในการเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำ อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขาใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร ให้ระมัดระวังอันตรายจากดินโคลนถล่มในระยะนี้
นายชยพล ฐิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผยว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรทาสาธารณภัย ได้ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ ทั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา และเขต 18 ภูเก็ต รวมถึงสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภาคใต้ที่ประสบอุทกภัย 8 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส สงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสนก.) ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก เข้าร่วมประชุมฯ ซึ่งจากการติดตามคาดการณ์ปริมาณฝน พบว่า หลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่อง แต่ปริมาณฝนลดลงเหลือไม่เกิน 100 มิลลิเมตร อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมทะเลอันดามันและ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก เคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือย่างช้าๆ ทำให้พื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช มีฝนตกเพิ่มขึ้นจนถึงวันที่ 10 มกราคม 2560 บกปภ.ช. ได้ประสานให้จังหวัดในพื้นที่ดังกล่าวเตรียมรับมือสถานการณ์ฝนตก โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังอยู่แล้ว อาจทำให้สถานการณ์ขยายวงกว้างมากขึ้น จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชน โดยเฉพาะการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยมายังพื้นที่ปลอดภัย การบริหารจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราว การประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการระดมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และกำลังเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยบริหารจัดการสรรพกำลังให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยและความรุนแรงของสถานการณ์ภัย พร้อมเคลื่อนย้ายเครื่องมือและอุปกรณ์จากพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายไปยังพื้นที่ที่มีแนวโน้มสถานการณ์รุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่ปลายน้ำปากแม่น้ำ ริมชายฝั่งทะเล และที่ลาดเชิงเขา ซึ่งฝนที่ตกหนักต่อเนื่องจะทำให้ดินชุ่มน้ำ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มได้ ควบคู่กับการเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเลให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและระดับการขึ้นลงของน้ำ เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วที่สุด รวมถึงให้การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ การแจกจ่ายถุงยังชีพ อาหาร และน้ำดื่มสะอาดแก่ผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การให้บริการขนย้ายสิ่งของและอพยพประชาชน ที่สำคัญ ได้สั่งการให้จังหวัดสำรวจความต้องการการช่วยเหลือด้านทรัพยากรและวัสดุอุปกรณ์ พร้อมประสานกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ส่วนหน้า) ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี สนับสนุนการช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป เพื่อให้การบริหารจัดการและสั่งใช้เครื่องมืออุปกรณ์เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและคลี่คลายสถานการณ์ได้โดยเร็ว
นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2559 ถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยใน 10 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ระนอง ยังคงมีสถานการณ์ใน 8 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และชุมพร รวม 85 อำเภอ 523 ตำบล 4,020 หมู่บ้าน โดยภาพรวมสถานการณ์ในปัจจุบันยังมีฝนตกในพื้นที่ ระดับน้ำลดลง ยกเว้นจังหวัดนครศรีธรรมราช และชุมพร ระดับน้ำเพิ่มขึ้น และนราธิวาส ระดับน้ำทรงตัว อีกทั้งจากการติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่า หลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลให้ดินอิ่มตัวและชุ่มน้ำ จึงได้ประสานแจ้งเตือนให้ประชาชน ที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขาใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (อำเภอพิปูน อำเภอลานสกา อำเภอร่อนพิบูลย์) สุราษฎร์ธานี (อำเภอพนม อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพงัน) ชุมพร (อำเภอฉวี อำเภอหลังสวน) ให้ระมัดระวังอันตรายจากดินโคลนถล่มในระยะนี้ รวมถึงประสาน ให้ 3 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยเฝ้าระวังสถานการณ์ ตรวจวัดปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำในแม่น้ำสายสำคัญ พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อ ได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป