กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ด้วยสำนึกในน้ำพระทัยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้กับชาวมละบริภูฟ้า จากความพยายามและความหวังที่จะพัฒนาหมู่บ้านของตนให้พึ่งพาตนเองได้ในยามที่ออกมาจากป่า ทำให้ชาวมละบริเริ่มที่จะเรียนรู้และปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสังคมปัจจุบัน
ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่ามละบริเจ็ดสิบกว่าชีวิต เดิมชาวมละบริมีวิถีชีวิตอยู่ในป่า เก็บของป่า ล่าสัตว์และย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ เป็นเวลาเกือบสิบปีแล้วที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ปฏิบัติงานตามพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเข้าไปส่งเสริมและร่วมเรียนรู้ในการสร้างความสามารถในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประกอบอาชีพเสริม เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชาวมละบริที่ออกจากป่ามาอยู่ในพื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาในทุกด้าน เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมปัจจุบันได้อย่างเสมอภาค และเมื่อไม่นานนี้เอง อรัญวา ชาวพนาไพร หรือ "ติ๊ก" อายุ 29 ปี เป็น "ชาวมละบริคนแรกของโลกที่ศึกษาจนจบระดับปริญญาตรีได้สำเร็จ" ในสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และนอกจากนั้นเธอยังเป็นประธานหมู่บ้านชาวมละบริที่อาศัยอยู่ในศูนย์ภูฟ้าพัฒนาแห่งนี้ด้วย โดย อรัญวา กล่าวว่า ในหมู่บ้านมีชาวมละบริอาศัยอยู่ประมาณ 20 ครัวเรือน มีประชากรประมาณ 76 คน ทำการเกษตรหาของป่าไปขาย ทำอาชีพรับจ้างในกรมป่าไม้ และศูนย์ภูฟ้าพัฒนา
"เพราะติ๊กเป็นประธานหมู่บ้าน ติ๊กก็อยากให้คนในหมู่บ้านมีชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตัวเองได้ ที่ผ่านมาอาจารย์และพี่ๆ จาก มจธ. คอยเป็นที่ปรึกษาให้เราและย้ำตลอดว่าหมู่บ้านจะเข้มแข็งและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนต้องเกิดจากคนภายในหมู่บ้านเองไม่ใช่จากคนภายนอก แต่อาวุธสำคัญที่จะช่วยพัฒนาตัวเองและคนในหมู่บ้านได้คือความรู้ ติ๊กจึงเลือกเรียนเกษตรเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราที่สุด การเรียนเกษตรเหมาะกับคนที่อยากฝึกอาชีพเพื่อที่จะพึ่งพาตัวเองให้ได้ ตอนแรกก็ไม่อยากเรียนเพราะกลัวว่าจะสู้คนอื่นไม่ได้ แต่พอตัดสินใจเรียนแล้ว จบมาเราได้นำความรู้จากที่เรียนมาแนะนำผู้ใหญ่ในหมู่บ้านทั้งเรื่องการเกษตรให้ได้ผลผลิต การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย การสื่อสาร ทำให้รู้จักอาชีพ และเมื่อมีอาชีพแล้วก็จะมีการวางแผนชีวิตตามมาพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ถูกเอาเปรียบ เราก็รู้สึกสนุกและตอนนี้ก็อยากเรียนต่ออีกด้วยซ้ำ เราเป็นตัวอย่างให้คนในชุมชนเห็นประโยชน์ของการเรียน ปัจจุบันนี้มีชาวมละบริเรียนปริญญาตรีแล้ว 6 คน ติ๊กเป็นคนแรกที่เรียนจบ ส่วนเด็กเล็กๆ ในหมู่บ้านตอนนี้ก็เรียนหนังสือกันทุกคน และที่สำคัญนอกจากการทำให้หมู่บ้านเราพึ่งตัวเองได้แล้ว ติ๊กอยากทำให้มละบริที่อยู่ในพื้นที่อื่นเห็นว่าเราทำได้ เราเปลี่ยนแปลงและทำให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้นได้เพราะเราอยู่รวมกัน สามัคคีกัน และเรียนรู้ไปด้วยกัน"