กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
นายกรัฐมนตรี ห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ มีข้อสั่งการเชิงนโยบายให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิด และเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเน้นย้ำให้หน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่บูรณาการสรรพกำลัง เครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในการแก้ไขสถานการณ์ พร้อมให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์สถานการณ์ภัยบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ตลอดจนวางระบบการจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราว และจัดบริการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสบภัยที่ครอบคลุมในทุกด้านจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) จัดประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่างส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรทาสาธารณภัย ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ ทั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา และเขต 18 ภูเก็ต รวมถึงสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภาคใต้ที่ประสบอุทกภัย 11 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร กระบี่ ประจวบคีรีขันธ์ และระนอง โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงาน ในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) เข้าร่วมประชุมฯ ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศ พบว่า หลายพื้นที่ปริมาณฝนลดลง แต่อิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมทะเลอันดามันตอนกลางและภาคใต้ฝั่งตะวันตกตอนบน คาดว่า จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวมะตะบัน ประเทศเมียนมา ในวันที่ 10 มกราคม 2560 ทำให้ภาคใต้ตอนบนยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดระนอง พังงา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร บกปภ.ช.ได้ประสานให้จังหวัดในพื้นที่ดังกล่าวเตรียมรับมือสถานการณ์ฝนตก โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังอยู่แล้ว อาจทำให้สถานการณ์ขยายวงกว้างมากขึ้น โดยจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที
นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าส่วนอำนวยการ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เน้นย้ำให้หน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่บูรณาการสรรพกำลัง เครื่องมือและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในการแก้ไขสถานการณ์ โดยแบ่งมอบภารกิจและหน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน เพื่อกระจายการช่วยเหลือให้เป็นไปอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่ที่สถานการณ์รุนแรงให้เร่งอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย พร้อมวางระบบการจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราว และจัดบริการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ แก่ผู้ประสบภัย ทั้งด้านการดำรงชีพ การแพทย์และสาธารณสุข การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงเร่งซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคมให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว
นายประยูร รัตนเสนีย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า บกปภ.ช.ส่วนหน้า ได้ประสานจังหวัดที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เร่งแก้ไขปัญหา และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยระดมสรรพกำลังของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มูลนิธิอาสาสมัครต่างๆ เร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเลให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและระดับน้ำทะเลหนุน เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด พร้อมให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์สถานการณ์ภัยบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง และป้องกันข่าวเชิงลบที่ซ้ำเติมสถานการณ์ให้รุนแรงมากขึ้น
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหัวหน้าศูนย์การปฏิบัติ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ระดมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย ทั้งรถไฟฟ้าส่องสว่าง เครื่องสูบน้ำระยะไกล เครื่องผลักดันน้ำ สุขาเคลื่อนที่ รถผลิตน้ำดื่มสะอาด รถยกสูง เรือท้องแบน เรืออเนกประสงค์ รวมกว่า 400 รายการ ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมทั้งได้เชื่อมโยงการปฏิบัติกับจังหวัด และอำเภอที่ประสบภัย บกปภ.ช.ส่วนหน้า ณ ศูนย์ ปภ.เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา และ บกปภ.ช.ส่วนกลาง ให้ผู้ประสบภัยได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วและทั่วถึงในทุกพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการดูแลด้านการดำรงชีพในระยะเร่งด่วน และการบรรเทาทุกข์ที่ครอบคลุมในทุกด้านจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายให้เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ข้อสั่งการเชิงนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรี รวมถึงหลักเกณฑ์การช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีมีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์น้ำท่วมให้เร่งจ่ายเงินค่าจัดการศพ 25,000 บาท กรณีเป็นหัวหน้าครอบครัว จ่ายเพิ่มอีก 25,000 บาท นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เตรียมเสนอกรมบัญชีกลางขอขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด (เพิ่มเติม) 3 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงขออนุมัติปฏิบัตินอกเหนือหลักเกณฑ์ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความคล่องตัว สำหรับจังหวัดที่เงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เพียงพอสามารถขอขยายวงเงินเพิ่มเติมผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งจะได้ประสานกรมบัญชีกลางอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมต่อไป