กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตามที่กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ในปัจจุบัน พบว่า หลายพื้นที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ยังมี 2 จังหวัดที่ยังน่าเป็นห่วง คือ สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งหนักที่สุด โดยน้ำจะเข้าสู่อำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 11 มกราคมนี้ จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานเตรียมการระบายลงสู่ลุ่มน้ำปากพนัง ที่ปัจจุบันมีน้ำรวมกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ พบว่าการแก้ไขน้ำท่วมในจังหวัดพัทลุงแก้ไขยากที่สุดในสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ เนื่องจากหากต้องระบายน้ำจากพัทลุงลงทะเลสาปสงขลา จะกระทบอำเภอสะทิงพระ และจังหวัดสงขลา จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เพิ่มการระบายน้ำและให้ศึกษาจังหวะน้ำทะเลขึ้นลง พร้อมกับการทำงานใกล้ชิดกับผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงและสงขลา ซึ่งการระบายน้ำมีความละเอียดอ่อนต่อคนในพื้นที่ใกล้เคียง
ปัจจุบันกรมชลประทานมีเครื่องสูบน้ำอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ที่ถูกน้ำท่วม 105 เครื่อง และยังมีสำรองเพิ่มเติมอีก134 เครื่อง จากทั้งหมด รวม 627 เครื่อง ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ 9 จังหวัด ซึ่งผลกระทบด้านภาคการเกษตรในเบื้องต้น พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้เสียหายประมาณ 980,000 ไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหาย 391,500 ราย แบ่งเป็น ข้าว 250,000 ไร่ พืชไร่ 21,000 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 709,000 ไร่ โดยในส่วนนี้เป็นยางพาราประมาณ 531,876 ไร่ คิดเป็น 4.6% ของพื้นที่ปลูกยางทั้งประเทศ ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการระบุว่ายางพาราที่กรดแล้วสามารถทำน้ำได้ประมาณ 1 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศเร่งสำรวจต้นยางที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบได้รับความเสียหายอย่างชัดเจน สำหรับด้านประมงพบว่า พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย 28,368 ไร่ และกระชัง 44,571.50 ตรม. ด้านปศุสัตว์ สัตว์ได้รับผลกระทบ 5,736,349 ตัว แปลงหญ้า 14,878 ไร่
ในส่วนของมาตรการให้ความช่วยแหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ในแต่ละเขตรับผิดชอบกำกับดูแล โดยจะต้องมีการสำรวจความเสียหายจริงเพื่อทำแผนการฟื้นฟูเยียวยาเป็นรายจังหวัด รวมถึงเร่งรัดการช่วยเหลือตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/60 ครัวเรือนละ 3,000 บาท ให้ถึงมือเกษตรกรโดยเร็วที่สุด
สำหรับการเตรียมการด้านงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูเกษตรกร พื้นที่เกษตรกรรม และการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ จะพิจารณาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือให้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้พิสูจน์ได้ว่าผลผลิตเสียหายจริงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องระเบียบทางราชการขณะเดียวกัน เงินช่วยเหลือถึงมือเกษตรกรให้สามารถกลับมาทำการเกษตรได้ทันต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของงบประมาณการให้ความช่วยเหลือหลังน้ำลด เบื้องต้นจะต้องใช้งบปกติของกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการหากไม่เพียงพอก็ต้องนำเสนอของบกลางต่อไป
สำหรับแผนการป้องกันน้ำท่วมในระยะกลางและระยะยาว ได้สั่งการให้กรมชลประทานจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ 7 โครงการ โดยให้จัดทำเป็นแพคเกจรายกลุ่ม เช่น กลุ่มจังหวัดปัตตานีและ นราธิวาส พร้อมสั่งการให้ศึกษาความเป็นไปได้ ในการนำงบพัฒนากลุ่มจังหวัดดังกล่าว บรรจุในแผนงบกลางในปีงบประมาณ 2560-2561 จากเดิมอยู่ในแผนปี 2563-2564 คาดว่างบประมาณจะอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะกลาง-ยาวช่วงระยะเวลา 3-5 ปี โดยตั้งเป้าให้แผนเริ่มดำเนินการในปี 2561 นอกจากนี้ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่รายงานสภาพการเดินทางและคมนาคมทุกวัน เพื่อให้นำความความช่วยเหลือลงสู่พื้นที่ได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งในวันที่11มกราคมนี้จะลงพื้นที่จังหวัดน้ำท่วมภาคใต้ เพื่อทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ทั้งการแก้ปัญหาการช่วยเหลือเฉพาะหน้า รวมถึงการดูแลการอพยพสัตว์ และประชาชนในพื้นที่ช่วงวิกฤตอีกด้วย