กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่า เผย เกษตรกรดูแลแปลงสาธิตที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการเป็นอย่างดี และพร้อมพัฒนาให้เป็นจุดสาธิตและเรียนรู้แก่เพื่อนเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงที่สนใจ มั่นใจไม่เกิน 3 – 4 ปี ได้ผลผลิตแน่นอน
นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่า ซึ่งมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมของโครงการว่า โครงการดังกล่าว กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อเพิ่มศักยภาพจากปัญหาสภาพสวนเสื่อมโทรม ต้นมะพร้าวอายุมากประสบปัญหาแมลงศัตรูมะพร้าว เช่น แมลงดำหนาม หนอนหัวดำ เป็นต้น โดยจัดทำแปลงสาธิตการปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่าที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และอยู่ในพื้นที่ที่แมลงศัตรูมะพร้าวเคยระบาดและทำลายต้นเสียหาย ด้วยการสนับสนุนต้นกล้ามะพร้าวพันธุ์ชุมพร 2 ปุ๋ยอินทรีย์ และปัจจัยการผลิตอื่นๆ สำหรับการปลูกมะพร้าวในพื้นที่ 2 ไร่ ต่อเกษตรกร 1 ราย พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ลงติดตามให้คำแนะนำเป็นระยะ
จากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรได้เข้าร่วมโครงการแล้ว 250 ราย กระจายอยู่ในจังหวัดเป้าหมายที่ถือว่าเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญ 4 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งพร้อมจะพัฒนาให้เป็นจุดสาธิตและเรียนรู้ด้านการปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่าและการดูแลรักษาสวนมะพร้าวจากปัญหาแมลงศัตรูมะพร้าวให้เกษตรกรในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง
ในการนี้ สศก. ได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการ ระหว่างวันที่ 6 – 10 ธันวาคม 2559 โดยสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรที่ร่วมโครงการในพื้นที่จังหวัดชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ พบว่า ต้นมะพร้าวที่ปลูกมีการเจริญเติบโตและสมบูรณ์เป็นปกติดี คาดว่าไม่เกิน 3 – 4 ปี มะพร้าวในโครงการจะให้ผลผลิตได้แน่นอน แม้จะยังคงมีปัญหาโรคแมลงระบาดบ้างตามฤดูกาลเล็กน้อย
สำหรับพืชแซมร่วมในแปลงพื้นที่ปลูกมะพร้าวของเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ พบว่า เกษตรกรร้อยละ 20 ได้รับผลผลิตแล้ว เช่น ผักเหลียง ชะอม กล้วย เป็น ซึ่งนอกจากนำไปบริโภคในครัวเรือนแล้ว บางส่วนยังนำผลผลิตไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริมได้อีกด้วย
ด้านความพึงพอใจต่อการได้รับการอบรมจากโครงการ เกษตรกรมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด โดยต้องการให้มีการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้อย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะพัฒนาแปลงสาธิตที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกมะพร้าวแก่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป