กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบผันผวน โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95เพิ่มขึ้น 0.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.67เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยลบต่อราคาน้ำมัน
· นายกรัฐมนตรีอิรัก นาย Haider al-Abadi เผยเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานในอิรัก ส่งออกน้ำมันดิบผ่านท่อขนส่งทางเหนือ ไปยังท่าเรือ Ceyhan ในตุรกี ในเดือน พ.ย. 59 อยู่ที่ 588,000 บาร์เรลต่อวัน สูงกว่าระดับซึ่งกำหนดในงบประมาณ ที่ 250,000 บาร์เรลต่อวัน (ทำให้ตลาดกังวลว่าอิรักอาจไม่สามารถควบคุมปริมาณการผลิตตามที่ตกลงในกลุ่ม OPEC)
· บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย National Oil Corporation (NOC) แถลงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เดือน ธ.ค. 59 เพิ่มขึ้น จากเดือนก่อน 85,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 685,000 บาร์เรลต่อวัน หลังกลับมาดำเนินการท่อขนส่งน้ำมันดิบสำคัญจากแหล่ง Sharara และ El Feel ทั้งนี้ลิเบียเป็น 1 ใน 2 สมาชิกของกลุ่ม OPEC ได้รับการยกเว้นไม่ต้องลดปริมาณการผลิต
· บริษัทน้ำมันเพิ่มงบการลงทุนในด้านสำรวจและผลิตตามราคาน้ำมันที่กระเตื้องขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น อาทิบริษัท Statoil ของนอร์เวย์ เผยแผนการขุดเจาะแหล่งน้ำมันดิบด้วยเทคโนโลยีขุดเจาะแบบ High-Impact Well จำนวน 6 หลุม โดยคาดว่าแต่ละหลุมจะค้นพบปริมาณน้ำมันดิบอย่างน้อย 250 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ (Million Barrel of Oil Equivalent หรือ MMBoE) ทั้งนี้Statoil มีแผนขุดเจาะหลุมน้ำมันดิบในปี 60 ทั้งหมด 30 หลุมใน 11 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่จำนวน23 หลุม
· Baker Hughes Inc. รายงาน จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 10) โดยสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4 แท่น มาอยู่ที่ 529 แท่น สู่ระดับสูงสุดในรอบปี
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบ WTI ในตลาด ICE ที่ลอนดอนและตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ม.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 9,626 สัญญา มาอยู่ที่ 332,207 สัญญา ปรับลดเป็นครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์
ปัจจัยบวกต่อราคาน้ำมัน
· Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ในเดือน ธ.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อน200,000 บาร์เรลต่อวัน
มาอยู่ที่ 34.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงเป็นครั้งแรกหลังทำสถิติสูงสุดใหม่ติดต่อกันมา 6 เดือนก่อนหน้า
· Reuters รายงาน Saudi Aramco มีแผนลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเดือน ม.ค. 60 ลง 486,000 บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 10.058 ล้านบาร์เรลต่อวัน และอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าลดปริมาณส่งมอบน้ำมันดิบเดือน ก.พ. 60 ลง 3-7%
· Abu Dhabi National Oil Co. (ADNOC) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีแผนปิดซ่อมบำรุงแหล่งผลิตน้ำมันดิบในเดือน มี.ค.-เม.ย. 60 ซึ่งจะทำให้การผลิตน้ำมันดิบ Murban (1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และDas (650,000 บาร์เรลต่อวัน ) ลดลง เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการลดการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ทั้งนี้UAE ตกลงลดการผลิตลง 139,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับเดือน ต.ค. 59 ที่ 3.013 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2560
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 7.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 479.0 ล้านบาร์เรล
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวตต่างเริ่มลดการผลิตน้ำมันดิบเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงควบคุมเพดานการผลิตของ OPEC ให้อยู่ที่ 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มต้นตั้งแต่เดือน ม.ค. 60 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ขณะที่ทางด้านกองกำลังติดอาวุธ Niger Delta Avenger (NDA) ซึ่งประกาศหยุดยิงร่วมกับรัฐบาลไนจีเรียมาร่วม 6 เดือน เพื่อเจรจาหาข้อยุติ ล่าสุดการเจรจาล้มเหลว NDA ประกาศจะก่อการร้ายเพื่อบ่อนทำลายรัฐบาลไนจีเรีย ทำให้โอกาสที่ไนจีเรียจะผลิตเพิ่มขึ้นตามเป้าเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นหลังตัวเลขจ้างงานและค่าแรงในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ด้านผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reutersชี้ว่ามีโอกาส 50% ที่เงินดอลลาร์จะแข็งค่าจนกระทั่งมีอัตราแลกเปลี่ยนเป็น 1 ดอลลาร์ต่อ 1 ยูโร หรือถึงขั้นแข็งค่ากว่านั้นภายในปีนี้ เนื่องจากนโยบายการลดภาษีของนาย Donald Trump ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะยังผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ประกอบกับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเงินยูโรจากการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอาจรวมถึงอิตาลี หากพรรคที่ชูนโยบายแยกตัวจากสหภาพยุโรปได้รับคะแนนเสียงข้างมาก อนึ่ง ปัจจุบัน เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทรงตัวใกล้เคียงระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี นอกจากนี้ ให้จับตาเงินปอนด์สเตอร์ลิงซึ่งมีแนวโน้มลดลงก่อนหน้าการประชุมสภาของอังกฤษเกี่ยวกับกระบวนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 55-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI เคลื่อนไหวที่ 53-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ น้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 52-55เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก Platt รายงานปากีสถานนำเข้าน้ำมันเบนซินปีพ.ศ. 2559 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19% อยู่ที่ระดับ 109,800 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าปริมาณนำเข้าปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง และReuters รายงานโรงแยกคอนเดนเสท (Condensate Splitter) Ras Laffan 2 (146,000 บาร์เรลต่อวัน) ของQatargas ในกาตาร์ยังมีปัญหาทางเทคนิคหลังจากเริ่มดำเนินการเมื่อปลายเดือน ต.ค. 59 โดยอัตราเดินเครื่องอยู่ที่ระดับ 50% ทำให้ผลิตน้ำมันสำเร็จรูปต่างๆ รวมทั้ง Naphtha ไม่ได้ตามแผน อย่างไรก็ตาม Platts คาดอุปทานน้ำมันเบนซินในเอเชียจะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1/60 หลัง บริษัท Reliance ของอินเดียเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุงหน่วย RFCC (200,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Jamnagar (660,000 บาร์เรลต่อวัน) และ กระทรวงพาณิชย์จีน ประกาศโควตาส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2560 อยู่ที่ 99 ล้านบาร์เรล ลดลง 40.8% จากการประกาศครั้งแรกเมื่อปีก่อนหน้าซึ่งมีเพียงบริษัทน้ำมันแห่งชาติ 4 บริษัท (Sinopec, CNPC, CNOOC, และ Sinochem) ได้รับโควตา ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค. 59 เพิ่มขึ้น 8.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 235.5 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.05 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.39 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก Platts คาดตลาดน้ำมันดีเซลในเอเชียระยะสั้นจะตึงตัว เนื่องจากอุปทานจากจีนลดลง ทั้งนี้โควตาการส่งออกน้ำมันดีเซลปี พ.ศ. 2560 ครั้งแรก อยู่ที่ 5.25 ล้านบาร์เรล ลดลงจากปีก่อน 34.7% และPlatts รายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซลของจีนเดือน พ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1% สู่ระดับสุงสุดในรอบปีที่ 3.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4ม.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 80,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.34 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน อย่างไรก็ตามADNOC ของ UAE เสนอขายน้ำมันดีเซลชนิด 10 ppm ปริมาณ 700,000 บาร์เรล ส่งมอบปลายเดือน ม.ค. 60 และEIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 161.7 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64-67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล