กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 9 จังหวัด แยกเป็น ภาคใต้7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ และตรัง ภาคกลางตอนล่าง 2 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เตรียมพร้อมรับมือน้ำป่าไหลหลาก ดินไหล และดินถล่ม ในช่วงวันที่ 9 – 11 มกราคม 2560โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย หากสถานการณ์รุนแรงให้พิจารณาอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและทันท่วงที
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี พบว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 200 มิลลิเมตรในรอบ3 วันที่ผ่านมา ประกอบกับหลายพื้นที่เกิดน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงพื้นดินชุ่มน้ำ หากยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินไหล และดินถล่ม ในช่วงวันที่ 9 – 11 มกราคม 2560 ในพื้นที่เสี่ยงภัย 9 จังหวัด แยกเป็น ภาคใต้7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ และตรัง ภาคกลางตอนล่าง 2 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 9 จังหวัดดังกล่าว ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 18 ภูเก็ต เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย และประสานข้อมูลสภาพอากาศกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรณีสถานการณ์รุนแรงให้พิจารณาอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน และชายฝั่งทะเลเตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป