กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (9 พ.ค.44) เวลา 13.30 น. ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายมานะ นพพันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องการเตรียมความพร้อมป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนฤดู กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงต่อไปอีก 2-3 วัน โดยเฉพาะในช่วงบ่าย-ค่ำ แต่เป็นฝนตกในช่วงสั้นประมาณ 15-30 นาที ปริมาณฝนมากที่สุดไม่เกิน 60-70 ม.ม. ซึ่งอยู่ในภาวะที่กทม. รับมือได้ สำหรับสถานการณ์ฝนตกรุนแรงจนเกิดเหตุหม้อแปลงระเบิด ไฟฟ้าดับ ต้นไม้ ป้ายโฆษณาล้มทับบ้านเรือน เช่น เมื่อวานนี้ (8 พ.ค.44) หลายหน่วยงานของกทม.ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้เตรียมพร้อมแก้ไขสถานการณ์และพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนตลอดเวลา
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักการระบายน้ำ กทม.ได้เตรียมการป้องกันน้ำท่วม โดยเตรียมแผนล้างท่อระบายน้ำที่มีปัญหาอุดตัน ความยาว 3,100 กม. (ท่อระบายน้ำในกรุงเทพมหานคร มีความยาวรวม 5,000 กม.) กำหนดดำเนินการตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม—พฤษภาคม ขณะนี้ได้ล้างท่อไปแล้ว 2,400 กม. ซึ่งเป็นไปตามแผน และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามเป้าหมาย 3,100 กม. ได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2544 ดำเนินการขุดลอกคลอง เพื่อเปิดทางน้ำไหล และกำจัดผักตบชวาในคลองที่มีปัญหาตื้นเขินอุดตัน ตรวจตราดูแลความพร้อมของสถานีสูบน้ำ และสถานีสูบน้ำย่อยทั่วกทม. ซึ่งปัจจุบันฝั่งพระนครมีกำลังสูบน้ำวันละ 527 ลบ.ม./วินาที และฝั่งธนบุรี มีกำลังสูบน้ำ วันละ 255 ลบ.ม./วินาที เตรียมเจ้าหน้าที่ประจำตามสถานีสูบน้ำทุกแห่งตลอดเวลาไม่เว้นวันหยุดราชการ เตรียมหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเร่งด่วนไว้ตลอด 24 ชม. โดยช่วงกลางวัน จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วเตรียมพร้อมไว้ 16 หน่วย สำหรับช่วงกลางคืน จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วเตรียมพร้อมไว้ 8 หน่วย และสำนักงานเขตต่างๆ ได้จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วเขตละ 1 หน่วย ซึ่งหน่วยนี้จะมีอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก เครื่องทะลุทะลวงท่อระบายน้ำอุดตัน เครื่องเก็บใบไม้อุดตันตามตะแกรงท่อระบายน้ำ ฯลฯ ประจำทุกหน่วย นอกจากนี้ยังมี โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม เช่นที่ซอยสุขุมวิท 36 และซอยสุขุมวิท 42 มีการติดตั้งระบบเครื่องสูบน้ำ กำลัง 6 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และมีการวางระบบท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.75 ม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2544 เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากฝนตกในช่วงเดือนกันยายนนี้
สำหรับประชาชนที่ประสบปัญหาเดือดร้อนจากน้ำท่วม ต้องการความช่วยเหลือ หรือต้องการข้อมูลเรื่องน้ำท่วม สามารถติดต่อศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กทม. ที่สำนักการระบายน้ำ กทม.2 ดินแดง ซึ่งมีการเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ได้ทางโทรศัพท์หมายเลข 246-0317-20 หรือแจ้งที่ศูนย์รับร้องทุกข์และป้องกันภัย ของสำนักงานเขตที่รับผิดชอบพื้นที่ได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ได้มีการวิทยุสื่อสารแจ้งให้ทุกเขตเตรียมพร้อมในเรื่องนี้แล้ว
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่ได้รับอนุญาต และติดตั้งอยู่ทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครนั้น สำนักการโยธา กทม. ได้เข้มงวดให้เจ้าของอาคารและวิศวกรผู้ออกแบบตลอดจนวิศวกรผู้ควบคุมงาน ดำเนินการตรวจสอบดูแลมิให้เกิดอุบัติเหตุหรือโค่นล้ม ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้อาศัยบริเวณใกล้เคียง และเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ นอกจากนี้ ยังได้ประสานงานไปยังเขตพื้นที่ให้ตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของประชาชน หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า มีป้ายที่ไม่ถูกกฎหมายปรากฏอยู่ หรือพบป้ายที่ชำรุดทรุดโทรม จะแจ้งให้เจ้าของรื้อถอนทันที มิฉะนั้นจะดำเนินการคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือแจ้งให้เขตทราบเมื่อพบเห็นป้ายที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตทรัพย์สินของประชาชนด้วย
ส่วนกรณีที่เกิดฝนตกหนักและป้ายขนาดใหญ่โค่นล้ม ทับบ้านเรือนประชาชนและเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินหลายแห่งในพื้นที่กทม. วานนี้ (8 พ.ค.) นั้น เป็นเหตุสุดวิสัย เพราะเกิดจากธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุกรณีดังกล่าว กทม.ได้ดำเนินการเร่งด่วนโดยแจ้งผู้รับเหมา เจ้าของอาคาร และวิศวกรผู้ควบคุมงาน มาตรวจสอบ และรื้อถอนทันที หากไม่ดำเนินการกทม. จะเข้าไปดำเนินการเองและมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ตาม พ.ร.บ.การละเมิดทรัพย์สินของทางราชการ
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า สำนักสวัสดิการสงคม โดยกองสวนสาธารณะ มีหน่วยงานดูแลต้นไม้ล้มฉุกเฉิน 3 หน่วย แบ่งเป็นฝั่งพระนคร 2 หน่วย และฝั่งธนบุรี 1 หน่วย นอกจากนี้ทุกสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ยังมีหน่วยรับแจ้งเหตุฉุกเฉินและให้ความช่วยเหลือกรณีต้นไม้ล้มอีกด้วย สำหรับเหตุการณ์พายุฝนกระหน่ำกรุงเทพฯ เมื่อวานนี้กองสวนสาธารณะ สำนักสวัสดิการสังคม ได้รับแจ้งเหตุต้นไม้ล้ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นไม้จากบ้านเรือนของประชาชนและตามถนนสายต่าง ๆ ในการนี้กองสวนสาธารณะ สำนักสวัสดิการสังคม ร่วมกับสำนักงานเขตเจ้าของพื้นที่ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือตัดแต่งต้นไม้ และเครื่องเลื่อยโซ่ เข้าดำเนินการตัดต้นไม้ที่ล้มกีดขวางทางจราจร และต้นไม้ที่ล้มทับรั้ว หรือบ้านเรือนประชาชน พร้อมกับขนย้ายออกไป ส่วนต้นไม้ที่หักพาดสายไฟฟ้าก็ได้ประสานการไฟฟ้า เข้าร่วมดำเนินการด้วยแล้ว และในวันนี้ (9 พ.ค. 44) กองสวนสาธารณะยังได้ ร่วมกับสำนักงานเขตออกตรวจพื้นที่ต่างๆ เพื่อดูแลความเรียบร้อยอย่างทั่วถึงอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ดีหากประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือต้องการความช่วยเหลืออันเนื่องมาจาก ต้นไม้หัก โค่นล้มโปรดแจ้ง กองสวนสาธารณะ สำนักสวัสดิการสังคม ฝั่งพระนคร โทร. 246-1590 , 537-8937 ฝั่งธนฯ โทร. 465-9651 หรือโทรแจ้งที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ ของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต
ด้านสำนักเทศกิจ ได้มีการประสานงานกับสำนักงานเขตต่าง ๆ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ เตรียมพร้อมตลอดเวลาสำหรับรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น และให้ความช่วยเหลือด้านการจราจรในกรณีที่มีรถเสีย รวมถึงให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ในเหตุการณ์เฉพาะหน้า มีการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำท่วมให้ประชาชนทราบและดูแลสิ่งปลูกสร้างที่อาจเป็นเหตุทำให้เกิดอันตราย รวมทั้งเป็นแม่ข่ายในการติดต่อสื่อสาร ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักการระบายน้ำ ประสานแต่ละสำนักงานเขตจัดรถสายตรวจออกตรวจพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และกรณีไฟดับจะจัดเจ้าหน้าที่ให้การดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนด้วย
สำหรับเรื่องการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลสังกัดกทม.หากเกิดไฟฟ้าดับนั้น กทม.ได้ติดตั้งระบบไฟฟ้าฉุกเฉินไว้แล้ว หากเกิดไฟฟ้าดับขึ้นกระทันหัน ระบบไฟฟ้าฉุกเฉินก็จะทำงานโดยอัตโนมัติทันที แต่จะเน้นเฉพาะจุดที่สำคัญ ๆ เช่น ห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน ห้องคลอด เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนของหน่วยกู้ชีพก็ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้พร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง โอกาสนี้ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเรื่องไฟฟ้าให้มาก หมั่นตรวจเช็คสภาพสายไฟฟ้าในบ้านอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันสายไฟฟ้ารั่วอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร และขอแนะนำให้ทุกบ้านควรติดตั้งเครื่องตัดไฟเพื่อป้องกันกรณีเกิดไฟรั่ว ไฟช็อตขึ้น--จบ--
-นห-