บกปภ.ช.ติดตามสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ กำชับจังหวัดดูแลผู้ประสบภัยทั่วถึง เน้นบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน

ข่าวทั่วไป Wednesday January 11, 2017 09:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายกรัฐมนตรี ห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ มีข้อสั่งการเชิงนโยบายให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิด และเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์น้ำคาดว่าพื้นที่ต้นน้ำและกลางน้ำจะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 – 3 วัน ส่วนพื้นที่ปลายน้ำจะใช้เวลาประมาณ 5 – 7 วัน ทั้งนี้ ได้กำชับให้จังหวัดดูแลผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง ทั้งการบรรเทาทุกข์ในเบื้องต้นและการฟื้นฟูความเสียหายในระยะยาว ย้ำ บกปภ.ช. ส่วนหน้า พร้อมให้การสนับสนุนจังหวัดในทุกด้าน สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายให้เร่งสำรวจความเสียหาย โดยด้านชีวิตและทรัพย์สินต้องแล้วเสร็จภายใน 30 วัน ด้านการประกอบอาชีพ ต้องแล้วเสร็จภายใน 60 วัน ส่วนสิ่งสาธารณประโยชน์ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งซ่อมแซมตามแผนงบประมาณโดยเร็ว เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) จัดประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) ที่เกี่ยวข้อง 11 สปฉ. เข้าร่วมประชุมฯ ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศ พบว่า หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้มีปริมาณฝนลดลง แต่ระดับน้ำยังทรงตัว ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมทะเลอันดามันตอนบนและเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวมะตะบัน ประเทศเมียนมา ทำให้มีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะประจวบคีรีขันธ์ที่มีน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ จากการประเมินสถานการณ์ พบว่า หลังวันที่ 11 ม.ค. 2560 ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคใต้จะลดลง แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพของภาคใต้ ซึ่งเป็นที่สูงสลับกับที่ลุ่ม ทำให้น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ทะเลหรือทะเลสาบ จากจุดที่เป็นต้นน้ำไปสู่กลางน้ำ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 วัน น้ำจะไหลลงสู่ปลายน้ำ ทำให้พื้นที่ต้นน้ำและกลางน้ำสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ในขณะที่พื้นที่ปลายน้ำบริเวณปากแม่น้ำและริมชายฝั่งทะเลจะใช้เวลาประมาณ 5 – 7 วัน สถานการณ์จึงจะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าส่วนอำนวยการ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เน้นย้ำจังหวัดที่มีปริมาณฝนลดลงให้เร่งคลี่คลายสถานการณ์ โดยติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำ ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์และระดับน้ำทะเลหนุน เพื่อให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงดูแลผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง ทั้งการบรรเทาทุกข์ในเบื้องต้น และการฟื้นฟูความเสียหายในระยะยาว อีกทั้งติดตั้งป้ายเตือนบริเวณเส้นทางที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะและอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกหนักให้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเลี่ยงการใช้เส้นทางที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมสูง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับผู้ใช้เส้นทางดังกล่าว กรณีเส้นทางสายหลักที่ลงสู่ภาคใต้มีน้ำท่วมสูงหรือคอสะพานถูกน้ำกัดเซาะเสียหาย ให้เร่งซ่อมแซมและนำสะพานแบลีย์ไปติดตั้ง เพื่อให้สามารถใช้สัญจรได้ชั่วคราว นายประยูร รัตนเสนีย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เน้นย้ำให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากในพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขังรอการระบาย ในขณะที่ยังมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงแม้จะมีฝนลดลง แต่ระดับน้ำยังทรงตัว ประกอบกับดินอยู่ในสภาพชุ่มน้ำ อาจทำให้เกิดดินไหล และดินถล่มบริเวณที่ลาดเชิงเขาได้ รวมถึงกำชับให้จังหวัดดูแลระบบการติดต่อสื่อสารให้สามารถใช้การได้ตลอดเวลา เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ให้เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงมาตรการการช่วยเหลือของภาครัฐ เพื่อให้ผู้ประสบภัยมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมในทุกด้าน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหัวหน้าศูนย์การปฏิบัติ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ระดมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย ทั้งรถไฟฟ้าส่องสว่าง เครื่องสูบน้ำระยะไกล เครื่องผลักดันน้ำ สุขาเคลื่อนที่ รถผลิตน้ำดื่มสะอาด รถยกสูง เรือท้องแบน เรืออเนกประสงค์ รวมกว่า 675 รายการ จากศูนย์ ปภ.เขต 11 ศูนย์ฯ เขต ทั่วประเทศ สนับสนุนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหมได้ระดมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกล ด้านสาธารณภัยอีกกว่า 1,000 รายการ ร่วมสนธิกำลังปฏิบัติการกู้วิกฤตอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งอยู่ภายใต้การสั่งการของ บกปภ.ช. ส่วนหน้า โดยได้กระจายทรัพยากรต่างๆ ไปยังพื้นที่ประสบภัยอย่างทั่วถึงแล้ว หากจังหวัดต้องการรับการสนับสนุนเพิ่มเติมให้ประสานไปยัง บกปภ.ช. ส่วนหน้า เพื่อพิจารณาสนับสนุนทรัพยากรเพิ่มเติมโดยเร่งด่วนต่อไป สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายให้เร่งสำรวจความเสียหาย แยกเป็น 3 ด้าน ดังนี้ 1.ด้านชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อาทิ ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต ค่าซ่อมแซมบ้านและที่อยู่อาศัย ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน 2.ด้านการประกอบอาชีพ อาทิ การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน 3.ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ อาทิ ถนน สะพาน และระบบสาธารณูปโภค ให้หน่วยงานรับผิดชอบหลักดำเนินการ ตามแผนงบประมาณให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว สำหรับถนนในหมู่บ้านที่ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบดูแล ให้จังหวัดขอรับการสนับสนุนงบกลางเพื่อดำเนินการซ่อมแซมโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ