กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--คณะกรรมาธิการร่างพรบ.อิเล็กทรอนิกส์
ร่างพรบ.อีคอมเมิร์ซ ฉบับทิ้งทวน ได้บทสรุปคาดจะผ่านสภาฉลุย หลังคณะกรรมาธิการร่างพรบ.อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่รับหลักการ แต่มีหนึ่งเสียงขอสงวนการแปรญัตติ
อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพรบ.ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ…. เปิดเผยว่า ร่างพรบ.กฎหมายอีคอมเมิร์ซฉบับนี้เป็นร่างใหม่ที่แก้ไขหมดแล้วเป็นครั้งสุดท้าย และคณะกรรมาธิการร่างพรบ.อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่รับหลักการเพื่อเตรียมยื่นเข้าสภาให้ทันในวาระ 2 และ3ก่อนสิ้นเดือนกันยายนนี้ ซึ่งหากไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ก็คงผ่านการประชุมสภาในสมัยนี้ได้เลย แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมากคงต้องใช้เวลามาก และหากต้องมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นใหม่อาจจะต้องไปพิจารณาในสมัยรัฐบาลใหม่
ภาพรวมของคณะกรรมาธิการถือว่าทำงานเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีกฎหมายฉบับแรกที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการยอมรับในการทำข้อตกลง หรือสัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการทำธุรกิจธุรกรรมค้าขายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยให้ได้รับประโยชน์มากขึ้นทั่วโลก และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนชาวต่างประเทศได้เป็นอย่างดี
"อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจยากในข้อจำกัดด้านภาษาบางอย่างที่อาจมีการตีความที่ไม่ชัดเจน เช่น ในมาตรา 4 เรื่องความหมายของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่แปรมาจากคำว่า Signature ทำให้ไม่รู้จะให้ความจำกัดความว่าอย่างไรดี เพราะลายมือชื่อก็ต้องเซ็นด้วยมือ แต่ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นไม่ได้เซ็นด้วยมือ ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้เป็นเรื่องทางเทคนิค
อีกเรื่องหนึ่งคือ กรณี ส.ส.พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค หนึ่งในคณะกรรมาธิการได้ขอสงวนคำแปรญัญติมาตราที่ 14-18 ที่เกี่ยวกับ"ผู้ส่ง-ผู้รับข้อมูล" ว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นผู้ส่งและผู้รับ แต่เรื่องดังกล่าวไม่น่ามีปัญหาเนื่องด้วยในมาตรา 4 ได้ระบุคำจำกัดความไว้อย่างชัดเจนซึ่งสามารถอธิบายให้เข้าใจได้" อาทิตย์ กล่าวสรุป
ทางด้าน พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เปิดเผยว่า พรบ.ฉบับรวมนี้ถ้าออกใช้เป็นกฎหมายต้องได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง และต้องส่งเสริมไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ และที่ต้องขอสงวนคำแปรญัตตินั้น เนื่องจากร่างพรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …ยังมีปัญหาเรื่องหลักฐานยืนยันบุคคลซึ่งไม่สามารถเป็นหลักฐานรับรองที่ชัดเจนตามกฎหมายพาณิชย์ทั่วไป และเรื่องของถ้อยคำเมื่อแปรความหมายแล้วไม่เข้าใจข้อมูลทางกฎหมายที่ชัดเจน เช่นมาตรา14-18 เรื่องคำจำกัดของ"ผู้ส่ง-ผู้รับข้อมูล" และมาตรา15 เรื่องใช้ถ้อยคำสับสนผิดพลาด และเมื่อเกิดข้อผิดพลาดต่อการทำธุรกรรมใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
"ในหลักการและแนวทางผมเห็นด้วย แต่เมื่อมีข้อชี้ชัดเรื่องของถ้อยคำนั้นผิดพลาด ประโยคเชื่อมโยงไม่ได้ทำให้เกิดความสับสนจึงขอสงวนคำแปรญัญติไว้ก่อน และอีกประการหนึ่ง ผู้ที่เขียนร่างกฎหมายนั้น"เนคเทค"ไม่มีความรู้ความชำนาญทางด้านกฎหมาย ควรรู้ตัวเองว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ควรที่จะสนับสนุนด้านความรู้ทางเทคโนโลยีไม่ควรนำนักวิทยาศาสตร์มาเขียนกฎหมายแทน" พีระพันธ์ กล่าวสรุป--จบ--
-สส-