กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และมหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดตัวโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่น และไลฟ์สไตล์ เดินเครื่องเต็มสูบเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่ยุค 4.0 พร้อมผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลาง การออกแบบแฟชั่นของอาเซียน ภายใต้คอนเซ็ปต์ Thailand Fashion 4.0 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยใน 4 ด้าน คือ 1) พัฒนาผลิตภัณฑ์และต่อยอดตราสินค้าที่มีอยู่เดิมให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น 2) พัฒนาบุคลากร และปัจจัยสนับสนุนอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และแฟชั่นฮับของภูมิภาค 3) พัฒนาไหมไทย ให้มีความร่วมสมัยและมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการใช้สินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ โดยยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไหมไทยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก 4) พัฒนา SMEs ในด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เหมาะสม และการพัฒนาการผลิต ผลิตภัณฑ์ผ้าผืนให้มีความร่วมสมัย และมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการใช้สินค้าแฟชั่นและเคหะสิ่งทอ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 30 %
นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2559 (ช่วง 3 ไตรมาสแรกระหว่างเดือน มกราคม-ตุลาคม) อุตสาหกรรมแฟชั่นสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกได้กว่า 6 แสนล้านบาท ประกอบด้วยสาขาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกันเป็นห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ยังคงประสบปัญหาด้านการส่งออกอย่างต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจ ชะลอตัว การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงจากประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงงานต่ำกว่ารวมถึงการปรับแก้ข้อตกลงการค้าเสรี อเมริกาเหนือ (NAFTA) ด้วยเหตุนี้การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญทั้งในเรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน การแนะแนวทางการออกแบบ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทย มุ่งไปสู่ Industry 4.0 ในส่วนอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ มีเป้าหมายการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และก้าวขึ้นสู่การเป็นฮับด้านแฟชั่นของอาเซียน ทั้งนี้ ตั้งเป้าเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าแฟชั่น ทั้งสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องหนังให้เพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาทภายใน 5 ปี นับจากนี้ไป
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยไปสู่ Industry 4.0 หนึ่งในกิจกรรมที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยมั่นคงได้ คือ การพัฒนานักออกแบบแฟชั่น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยต่อยอดให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมแฟชั่น ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยอยู่ในช่วงชะลอตัว ซึ่งเกิดจากผลกระทบหลายด้าน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องเร่งผลักดัน และพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยทั้ง 3 สาขาดังกล่าว ให้พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางแฟชั่นอาเซียนภายในปี 2560 ตามเป้าหมาย ที่วางไว้
สำหรับกิจกรรมสำคัญภายใต้โครงการเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นให้แข็งแกร่ง ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ๆ คือ
1. การสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่น (FDC2017) ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและเสริมรากฐานของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เข้มแข็ง ด้วยการคัดเลือกนักออกแบบและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 130 คน ผ่านกระบวนการอบรมและปรึกษาแนะนำอย่างเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จริง ซึ่งในปีนี้ได้รับเกียรติจากกูรูเจ้าของแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของประเทศ อาทิ แบรนด์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย Milin แบรนด์เครื่องหนังและรองเท้า S'uvimol Bangkok และแบรนด์อัญมณีและเครื่องประดับ Trimode เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้เข้าร่วมในกิจกรรม ด้วยการเสริมสร้างทักษะ ประสบการณ์ และความมั่นใจให้เกิดขึ้นกับตัวนักออกแบบ สามารถสร้างสรรค์คอลเลคชั่นสินค้าที่โดดเด่นด้วยดีไซน์และพัฒนาสู่แบรนด์แฟชั่น โดยมีสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นหน่วยร่วมดำเนินการ
2. กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์และต่อยอดตราสินค้าสู่อาเซียน หรือ D Space :ASEAN FORWARD ดำเนินงานต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 โดยมี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้พัฒนาแบรนด์สินค้าแฟชั่นไทยจำนวน 15 กิจการ 5 ต้นแบบ ในทุกมิติ ทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพ การออกแบบ การผลิตและตราสินค้า ภายใต้แนวความคิดที่มุ่งเน้นการสร้างความสำเร็จของผู้ประกอบการแบรนด์สินค้าแฟชั่นไทยด้านความสร้างสรรค์ คุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศอาเซียนและระดับนานาชาติต่อไป
3. กิจกรรม Modern Thai Silk ระยะที่ 4 เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบไหมไทยร่วมสมัย (Modern Thai Silk) มิติใหม่แบบสหวิทยาการ (Multidisciplinary) ของการออกแบบอิงวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับเทรนด์โลก และใช้การออกแบบเชิงวิศวกรรมตั้งแต่ระดับเส้นใยถึงผ้าผืน ทั้งนี้ แนวทางการออกแบบไหมไทยร่วมสมัยในปี 2560 นี้ จะใช้ตามแนวโน้มตลาด Spring/Summer 2017 โดยมีเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการจำนวน 15 กิจการ และมีสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นหน่วยร่วมดำเนินการ
4. กิจกรรมพัฒนาผ้าผืนสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำสิ่งทออาเซียน ด้วยการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าผืนให้ตรงกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าผืนทั้งในและต่างประเทศ ให้สามารถใช้ได้กับสินค้าแฟชั่นและเคหะสิ่งทอ โดยนำเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เหมาะสมมาใช้ มีเป้าหมายผู้ประกอบการเข้าร่วม 15 กิจการ ภายใต้ Concept คุณสมบัติพิเศษ (Functional Textile) และผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Textile) โดยมีสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นหน่วยร่วมดำเนินการ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญทั้ง 3 หน่วยงาน คือสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นหน่วยร่วมในการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงระหว่างนักออกแบบกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยผสมผสานร่วมกับการออกแบบและการประยุกต์เข้ากับเทรนด์แฟชั่นสากล ทำให้มั่นใจได้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทย จะได้รับการพัฒนาและยกระดับเพื่อเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของอาเซียนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ดร.สมชาย กล่าว สำหรับผู้ประกอบการ นักศึกษา และประชาชนที่สนใจด้านแฟชั่น สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ถนนพระรามที่ 4 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2367 8201, 0 367 8022 และติดตามข้อมูลข่าวสารโครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr