กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
นายกรัฐมนตรี ห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ มีข้อสั่งการเชิงนโยบายให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิดและเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งจากการติดตามปริมาณฝนพื้นที่ภาคใต้มีฝนลดลง จึงเป็นช่วงที่ ต้องเร่งผลักดันน้ำและระบายน้ำออกสู่ทะเลให้ได้มากที่สุด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ด้าน มท.1 เน้นย้ำมุ่งลดความสูญเสียของประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมเร่งอพยพประชาชนจากพื้นที่ที่สถานการณ์รุนแรง มายังศูนย์พักพิงชั่วคราว รวมถึงเร่งซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว ตลอดจนสั่งการให้จังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ส่วนจังหวัดที่สถานการณ์ยังทรงตัว ให้ดูแลด้านการดำรงชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ในขณะที่จังหวัดที่ยังมีฝนตกหนัก ให้ระดม สรรพกำลังในการเร่งระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมพื้นที่สำคัญ
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) จัดประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) ที่เกี่ยวข้อง 11 สปฉ. เข้าร่วมประชุมฯ
ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศ พบว่า หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้มีปริมาณฝนลดลง ระดับน้ำเริ่มลดลงในหลายพื้นที่ ขณะที่บางแห่งระดับน้ำยังทรงตัว สำหรับพื้นที่ ที่ยังต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ลุ่มน้ำปากพนังในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำก่อนไหลออกสู่ทะเล รวมถึงลุ่มน้ำตาปี บริเวณอำเภอพระแสง อำเภอตาปี อำเภอนาสาร อำเภอพุนพิน อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้การผลักดันน้ำล่าช้า สำหรับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ยังคงเฝ้าระวังใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอบางสะพาน อำเภอทับสะแก อำเภอกุยบุรี และอำเภอบางสะพานน้อย เนื่องจากมีน้ำท่วมสูง ในขณะที่ยังมีฝนตกหนักในพื้นที่ สำหรับการคาดการณ์ปริมาณฝน ในระยะนี้ยังมีฝนตกหนักด้านตะวันตกของประเทศ และบริเวณภาคกลางตอนล่าง ขณะที่ภาคใต้จะเริ่มมีฝนลดลงตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จึงเป็นช่วงที่ต้องเร่งผลักดันน้ำและระบายน้ำออกสู่ทะเลให้ได้มากที่สุด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว จากนั้นตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2560 เป็นต้นไป จะเริ่มมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งเป็นสถานการณ์ปกติของฤดูมรสุมในภาคใต้ แต่จะต่างจากรอบที่ผ่านมา ที่ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่เดิมเป็นเวลานาน
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เน้นย้ำให้จังหวัดเร่งแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ มุ่งลดความสูญเสียชีวิตของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยแจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากภัยในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะการจมน้ำ และไฟฟ้าดูด สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์รุนแรงให้อพยพประชาชนมาอาศัยที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมจัดสิ่งอำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงวางแผนแจกจ่ายถุงยังชีพแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องและกระจายการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ส่วนพื้นที่ที่ระดับน้ำเริ่มลดลง ให้เร่งซ่อมแซมเส้นทางการคมนาคมให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว รวมถึงทำความสะอาดบ่อน้ำตื้น บ่อบาดาล เพื่อไม่ให้ประชาชนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ระดมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย รวมกว่า 700 รายการ จากศูนย์ ปภ.เขต 11 ศูนย์ฯ เขต ทั่วประเทศ สนับสนุนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหมได้ระดมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกล ด้านสาธารณภัยอีกกว่า 1,000 รายการ ร่วมสนธิกำลังปฏิบัติการกู้วิกฤตอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งอยู่ภายใต้การสั่งการของ บกปภ.ช. ส่วนหน้า โดยได้กระจายทรัพยากรต่างๆ ไปยังพื้นที่ประสบภัย อย่างทั่วถึงแล้ว หากจังหวัดต้องการรับการสนับสนุนเพิ่มเติมให้ประสานไปยัง บกปภ.ช. ส่วนหน้า เพื่อพิจารณาสนับสนุนทรัพยากรเพิ่มเติมโดยเร่งด่วนต่อไป ในส่วนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายใต้ บกปภ.ช. ได้มีการเชื่อมโยงกลไกของส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน 11 สปฉ. ที่ครอบคลุมทั้งด้านการคมนาคม การสื่อสาร สาธารณูปโภค การแพทย์และสาธารณสุข การเกษตร การรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อบูรณาการให้หน่วยงานที่มีภารกิจรับผิดชอบในแต่ละด้านเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว สำหรับการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ แยกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ 1.จังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 2.จังหวัดที่สถานการณ์ยังทรงตัว ให้ความสำคัญกับการดูแลด้านการดำรงชีพและชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น 3.จังหวัด ที่ยังมีฝนตกหนักและมวลน้ำปริมาณมากในพื้นที่ ให้ระดมสรรพกำลังในการผลักดันน้ำออกสู่ทะเล พร้อมป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่สำคัญมิให้มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน รวมถึงดูแลเส้นทางคมนาคมมิให้ถูกตัดขาด สำหรับสิ่งของที่ได้รับบริจาคผ่านทางช่องทางต่างๆ ขอให้ตรวจสอบและคัดกรองคุณภาพก่อนนำไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย เพื่อลดผลกระทบที่ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่