กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--
ในปัจจุบันสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก สาเหตุมาจาก "มนุษย์" ใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย โดยปัญหาหลักที่พบในปัจจุบัน คือ 1. ปัญหาการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ 2. ปัญหามลภาวะหรือมลพิษทางสิ่งแวดล้อม 3. ปัญหาการทำลายระบบนิเวศน์ แต่ปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังประสบและรุนแรงขึ้นจากเดิม คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างชัดเจน เพราะสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดสภาวะภัยแล้ง น้ำท่วม นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศไทยประสบปัญหาขยะตกค้างประมาณ 30 ล้านตัน และปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าและการขนส่งที่หนาแน่น ซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 10 ของโลกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปทำลายชั้นบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน เกิดมลภาวะโลกร้อน
นายอรณ ยนตรรักษ์ ประธานกลุ่มจิตอาสา "LIONHEART" โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาใกล้ตัวที่สำคัญยิ่งในปัจจุบัน แต่คนไทยทั่วไปมักไม่ค่อยให้การใส่ใจหรือนึกถึง แม้จะมีการรณรงค์กันเสมอทั่วโลกก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครทำอย่างจริงจัง พวกเราในฐานะเยาวชนไทยที่มีจิตสำนึกรักในประเทศ และอยากดำเนินตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์เป็นกษัตริย์นักพัฒนา และยังเป็นตัวอย่างในการแปรสภาพของที่ไม่ใช่แล้วให้กลับมามีมูลค่า สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และยังช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
น้องพีท-อรณ ยนตรรักษ์ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุผลนี้ผมได้จัดทำโครงการส่วนตัวชื่อ "Cartons Under The Sun" ขึ้นมา โดยนำขยะที่เหลือใช้อย่างกล่องนมมาทำหมวกรีไซเคิล แล้วนำไปแจกให้กับเด็กๆ ผู้ยากไร้ไว้ใช้ใส่กันแดด ผมได้เริ่มโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2013 โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ต้องการลดขยะในชุมชน ซึ่งในแต่ละปีเราสามารถรวบรวมกล่องนมทิ้งแล้วได้ถึง 150,000 - 200,000 ชิ้น และส่วนหนึ่งเราแบ่งนำไปมอบให้กับ Tetra Pak เพื่อใช้ในโครงการหลังคาสีเขียว (Green Roof Project) ของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย ตามพระราชดำริของพระองค์เจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
และอีกส่วนหนึ่งที่เหลือผมได้นำมาใช้ทำโครงการส่วนตัว คือ โครงการ "Cartons Under The Sun" ซึ่งนอกจากการนำกล่องนมทิ้งแล้วมาทำประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศอีกด้วย โดยพบว่า กล่องนม 1 ตันที่นำมารีไซเคิล สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 900 กิโลกรัม จากการเผาไหม้และการฝังกลบ จึงเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อน ภาวะก๊าซเรือนกระจกได้อย่างดี และยังลดพื้นที่ฝังกลบได้มากถึง 4 ตารางเมตร การที่ผมสอนให้คนต่างจังหวัดหรือผู้มีรายได้น้อยใช้เวลาว่างมาทำหมวกกันแดดจากกล่องนมทิ้งแล้วเหล่านี้ ยังช่วยทำรายได้ให้พวกเขาอีกด้วย โดยสามารถนำไปขายได้ใบละ 50 - 70 บาท
ทางด้าน นางสาวสอน ธรศรี อายุ 62 ปี ปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตรกร ได้เล่าให้ฟังว่า อดีตตัวเองเป็นครูสอนภาษาอังกฤษชั้นปฐมวัย โรงเรียนภักดีวิทยา ในกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันได้กลับมาอาศัยอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินชีวิตตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการทำนา ทำสวน ปลูกผัก ปลูกกล้วย เลี้ยงกบ เป็นต้น ตอนที่ดิฉันเป็นครูอยู่ที่กรุเทพฯ มีโอกาสได้พูดคุยกับน้องกลุ่ม LIONHEART ถึงการประดิษฐ์หมวกจากกล่องนม รู้สึกประทับใจมาก เพราะเป็นโครงการที่ดี โดยนำวัสดุใช้แล้วมาทำให้เกิดประโยชน์ สร้างรายได้ และยังลดปัญหาขยะและมลภาวะสิ่งแวดล้อมด้วย และเมื่อดิฉันกลับมาดำรงอาชีพเกษตรกรที่บ้านเกิดในจังหวัดร้อยเอ็ด ก็ได้นำความรู้ในการประดิษฐ์หมวกนี้มาสอนให้กับเพื่อนบ้าน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ใส่กันแดดกันฝนเวลาทำนา ปลูกผัก ทำสวน และที่เหลือยังสามารถทำไว้แจกเป็นของขวัญแก่เพื่อนฝูง หรือขายเพื่อสร้างรายได้อีกด้วย