กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์
บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ประเมินแนวโน้มตลาดหุ้นไทย ปี 2560 มีศักยภาพเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ด้วยแรงส่งจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเอกชน ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ฟื้นตัว และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนทั้งจากการส่งออกและการใช้จ่ายในประเทศ หนุนตลาดหุ้นไทยเนื้อหอม ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกที่มีแนวโน้มหันมาลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมากยิ่งขึ้น พร้อมตั้งเป้า SET INDEX ปีระกา ที่ 1700 จุด ชูกลยุทธ์ลงทุนหุ้น 3 กลุ่มอนาคตสดใส ประกอบด้วย กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคารพาณิชย์
นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ปี 2560 จะเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งสำหรับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย หลังจากที่ปี2559 ตลาดหุ้นไทยได้โชว์ศักยภาพเติบโตถึง 20% นับว่าสูงที่สุดในภูมิภาค สำหรับในปีนี้ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมือง รัฐบาลทั่วโลกเริ่มส่งสัญญาณใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะได้ผลดีกว่าอดีตที่ปล่อยให้ธนาคารกลางอัดฉีดสภาพคล่องอยู่ฝ่ายเดียวมาหลายปี ประกอบกับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ส่งผลดีต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะสินค้าเกษตรของไทย ทำให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อน่าจะฟื้นตัวกลับเป็นบวกเข้าสู่เป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ถูกผลักดันด้วยอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเมื่อรวมกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ส่งสัญญาณเดินหน้าเต็มที่ จะช่วยผลักดันให้เกิดวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากภาคเอกชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยรอคอยมานาน ทั้งหมดนี้จะสร้างสภาพแวดล้อมในการลงทุนที่ดีสำหรับตลาดหุ้น เนื่องจากการลงทุนในหุ้นสามารถเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงโดยธรรมชาติในช่วงที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นต่างจากตราสารหนี้ที่มักสร้างผลตอบแทนได้ไม่ดีในภาวะเงินเฟ้อสูง จึงน่าจะเห็นการโยกเม็ดเงินลงทุนมายังหุ้นหรือสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยยังคงต้องเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยต่างประเทศที่ส่งผลให้ตลาดแกว่งในบางช่วง ซึ่งภายใต้มุมมองว่าปัญหาต่างๆ ไม่น่าจะถึงขั้นที่ก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ความกังวลจากภายนอกจึงน่าจะสร้างความผันผวนให้กับตลาดเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น
" SCBS มองว่าภายใต้ปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบัน SET INDEX มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นอีกเนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกหันมาซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น และลดการลงทุนในตราสารหนี้ที่มักให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนักในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ดังนั้นตลาดหุ้นไทยควรจะซื้อขายที่ราคาปิด/กำไรต่อหุ้น (PER) ที่ระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 ปีเล็กน้อย โดยที่ระดับ +1 Standard Deviation (SD) คิดเป็น PER ได้ที่ 14.7 เท่า ซึ่งเมื่อคูณกับประมาณการกำไรต่อหุ้นแบบมองไปข้างหน้า (Forward EPS) ณ ปลายปี 2560 ของตลาดที่น่าจะอยู่ที่ราว 115-120 บาท/หุ้น จะคำนวณประมาณการSET INDEX ในปีนี้ว่ามีโอกาสขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1700 จุดหรือคิดเป็นผลตอบแทนการลงทุนที่ราว 10-15% โดยนักลงทุนควรติดตามข่าวสารต่างๆ โดยเฉพาะข่าวเศรษฐกิจและการเมืองในต่างประเทศอย่างใกล้ชิดเพราะอาจทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดความผันผวน ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยด้วย"
สำหรับหุ้น Top Picks ประจำไตรมาส 1/2560 แนะนำหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากปัจจัยสนับสนุนการลงทุนหลักๆ 3ด้าน คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเอกชน ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ฟื้นตัว และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนทั้งจากการส่งออกและการใช้จ่ายในประเทศโดยอ้างอิง 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคาร
· บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) : งานในมือจะเพิ่มขึ้น น่าจะทำจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 8.8 หมื่นล้านบาทในปี 2560 นอกจากนี้การร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ เข้าประมูลงานยังจะช่วยเสริม profileและประสบการณ์ ซึ่งจะเพิ่ม Upside จากงานใหม่ในอนาคตด้วย
· บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) : งานในมือจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับบริษัททั้งในและต่างประเทศทำให้มีโอกาสสูงที่จะชนะการประมูลเพิ่มในปี 2560
· บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) : ค่าการกลั่นจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในระยะ 3 ปีข้างหน้า และยังจะได้รับประโยชน์จากโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สะอาด (UHV) ตลอดทั้งปี 2560 โครงการกำลังขยายกำลังการผลิตโพรพิลีนจะแล้วเสร็จภายในกลางปี ทันเวลารับประโยชน์จากวัฏจักรขาขึ้นของโพรพิลีนพอดี
· บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) : ค่าการกลั่นที่สูงขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้กำไรเติบโต 13% ในปี2560 ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินจำนวนมากจะส่งผลโดยตรงต่อบริษัท ซึ่งผลิตน้ำมันเบนซินได้มากที่สุดในประเทศไทย ผลตอบแทนจากเงินปันผล 7.9% จะช่วยป้องกันความเสี่ยงขาลง
· บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) : เหมาะที่สุดสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว ตลอดจนการฟื้นตัวของธุรกิจประกันอันเป็นผลมาจากผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มสูงขึ้น
· บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) : Valuation ถูกที่สุดในกลุ่มธนาคาร แต่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ รวมถึง NPL ที่ลดลงจากการจัดชั้นสินเชื่อสินเชื่อบริษัทสหวิริยะสตีลอินดรัสตรี (SSI) พ้นจากการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งน่าจะช่วยหนุนให้คุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น