กสิกรไทยออกมาตรการเร่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 11, 2017 18:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--ธนาคารกสิกรไทย สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้วิกฤติหนัก กระทบวงกว้าง 12 จังหวัด กสิกรไทยออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอี พักชำระเงินต้น 12 เดือน ขยายเทอมตั๋วสัญญาใช้เงินและวงเงินต่างประเทศ พร้อมสนับสนุนวงเงินเพื่อซ่อมแซมและส่งทีมงานลงพื้นที่ดูแล ช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ สร้างความเสียหายให้กับ 12 จังหวัด ประกอบด้วย พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนอกจากสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อลูกค้าธุรกิจของธนาคารที่อยู่ในพื้นที่ โดย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับความเสียหายทั้งสถานประกอบการ สินค้าและวัตถุดิบที่เก็บไว้ในสต็อก และไม่สามารถขายสินค้าได้ ธนาคารจึงออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจของธนาคารใน 12 จังหวัดเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกค้าในช่วงประสบอุทกภัย มาตรการการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภาคใต้ ประกอบด้วย การลดยอดผ่อนชำระหรือพักชำระเงินต้นนานสูงสุด 12 เดือน รวมถึงการขยายเทอมตั๋วสัญญาใช้เงินและวงเงินการค้าต่างประเทศ และหากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ลูกค้าที่ต้องการวงเงินเพื่อซ่อมแซมสถานประกอบการ เครื่องจักร รวมถึงชดเชยสต็อกสินค้าที่เสียหายจากอุทกภัย ธนาคารจะพิจารณาให้วงเงินกู้โดยพักชำระเงินต้นนานสูงสุด 6 เดือน และไม่ต้องประเมินราคาหลักประกันใหม่ โดยต้องขอวงเงินภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ นายสุรัตน์ กล่าวตอนท้ายว่า ธนาคารได้ให้การช่วยเหลือลูกค้าในทุกครั้งที่เกิดวิกฤติและได้รับผลกระทบ เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในครั้งนี้ มีลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารจำนวน 14,395 รายที่อยู่ใน 12 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งลูกค้าได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไป ธนาคารกำลังลงพื้นที่สำรวจและประเมินความเสียหายของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด โดยหวังว่ามาตรการการช่วยเหลือในครั้งนี้จะช่วยบรรเทาภาระและให้ลูกค้ามีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไป จนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะเข้าสู่ภาวะปกติ ลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารที่ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อขอรับมาตรการช่วยเหลือได้ที่ผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้า หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ K-Biz Contact Center โทร. 02-8888822

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ