กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้แจง กรณีรถตู้โดยสารกรุงเทพฯ-จันทบุรี ที่เกิดเหตุชนกับรถกระบะมีผลทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นนายจ้าง ลูกจ้าง ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตั้งเป้าตรวจเข้มนายจ้างขนส่งปฏิบัติตามกฎหมาย ฝ่าฝืนดำเนินคดีทันที พร้อมแนะผู้ขับขี่รถสาธารณะนำแนวปฏิบัติตามกฎหมายไปใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยฯ แม้ไม่ใช่นายจ้าง
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีรถกรุงเทพฯ-จันทบุรี ที่เกิดเหตุชนกับรถกระบะมีผลทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตว่า กสร.มีความเสียใจอย่างยิ่งต่อความสูญเสียในเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามจากการสอบข้อเท็จจริงของพนักงานตรวจแรงงานพบว่า กรณีเหตุการดังกล่าวนายสุมน เอี่ยมสมบัติ เจ้าของรถตู้โดยสารเป็นผู้ขับขี่รถดังกล่าวเอง โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด พลอยหยก เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจำหน่ายตั๋วโดยสาร เตรียมสถานที่สำหรับจอดรถ ห้องพักผู้โดยสาร โดยมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากเจ้าของรถตู้เพื่อเป็นค่าบริการดังกล่าว ไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างลูกจ้างตามพระราชบัญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานในกรณีนี้ได้ ทั้งนี้ในงานขนส่งทางบก กฎกระทรวงฉบับ ๑๒ ซึ่งออกตามความในพระราชบัญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง การทำงานสำหรับงานดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ เช่น การกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดงานไม่เกินวันละ ๘ ชั่วโมง การห้ามไม่ให้ลูกจ้างทำงานขับขี่ยานพาหนะทำงานล่วงเวลาหากไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง เป็นต้น ซึ่งโทษของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้จะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน ปรับไม่เกิน ๑ แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามกสร.ได้จัดทำแผนตรวจเข้มสถานประกอบการใน ๕ กลุ่มกิจการ ได้แก่ ๑. กิจการที่มีการใช้ปั้นจั่นหรือเครน๒. กิจการที่มีการใช้สารเคมี ๓. กิจการขนส่งทางบก ๔. กิจการที่มีการใช้แรงงานเด็ก ๕. กิจการเกี่ยวกับประมงและต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องสภาพการจ้าง การทำงาน และความปลอดภัยในการทำงาน ตั้งแต่ต้นกุมภาพันธ์เป็นต้นไป โดยเฉพาะในกิจการขนส่งทางบกจะดำเนินการให้เสร็จก่อนเดือนเมษายน เนื่องจากในช่วงเดือนดังกล่าวเป็นเทศกาลสงกรานต์จะมีผู้ใช้รถโดยสารจำนวนมาก หากพบว่ามีการฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฎหมายทันที ทั้งนี้จะมีการประเมินผลการดำเนินการทุก ๑๕ วัน
"อุบัติเหตุจากยานพาหนะก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก จึงฝากถึงผู้ขับขี่รถสาธารณะทุกท่านนำข้อปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๒ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ"งานขนส่งทางบก" โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของผู้ขับขี่ยานพาหนะมาใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อตัวผู้ขับขี่ ผู้โดยสารและผู้ร่วมใช่เส้นทาง หากนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการใด
มีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง ๑๐ พื้นที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน ๑๕๔๖" อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าว