กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--สมิติเวช
สมิติเวช สุขุมวิท ตอกย้ำความเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าของเมืองไทย ในด้าน "สถาบันโรคตับและระบบทางเดินอาหาร" ร่วมมือกับโรงพยาบาล "ซาโน่" ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและการแปลผลลักษณะผิวเยื่อบุ โดยเฉพาะลักษณะผิวของติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ (Image Enhanced Endoscopy ) โดยมี ศาสตราจารย์ นพ. ยาซูชิ ซาโน่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลซาโน่ และผู้อำนวยการสถาบันส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้คิดค้นวิธีการจำแนกเนื้อเยื่อบุผิวเพื่อการวินิจฉัยลักษณะของติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ (colonic polyp) เป็นที่ยอมรับของแพทย์ทางตะวันตก นำนวัตกรรมล่าสุด การส่องกล้องตัดก้อนเนื้อขนาดใหญ่โดยไม่ต้องเปิดหน้าท้อง ESD (Endoscopic Submucosal Dissection) เพื่อการรักษาผู้ป่วยในประเทศไทย
นพ. นิธิวัฒน์ กิจศรีอุไร ผู้อำนวยการ รพ. สมิติเวช สุขุมวิท กล่าวถึงการร่วมมือระหว่าง รพ.สมิติเวช สุขุมวิท และ รพ. ซาโน่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของแพทย์ระบบทางเดินอาหารของโรงพยาบาลในการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาด้วยการส่องกล้องขั้นสูง โดยมุ่งให้สมิติเวชสามารถให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคระบบทางเดินอาหารที่ครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นนำ และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มุ่งเน้นที่การตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันการเกิดโรค (โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และ กระเพาะอาหาร ซึ่งพบได้บ่อยและมีความสำคัญ) และเพื่อการให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องตั้งแต่ระยะเริ่มแรก รวมไปถึงการให้การรักษาที่เทียบเท่าหรือที่ดีกว่ามาตรฐานสากล แม้ในกรณีของโรคที่มีความซับซ้อน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลรักษา ตลอด 3 ปีที่ผ่านมารพ. สมิติเวชมีการแลกเปลี่ยนแพทย์ระบบทางเดินอาหารไปศึกษาดูงานและเรียนรู้เทคนิคด้านการส่องกล้องเพิ่มเติม ณ โรงพยาบาลซาโน่ ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
ล่าสุดโดยในปีนี้ สมิติเวชยังนำเทคนิคใหม่ที่ใช้ในการตัดติ่งเนื้อจากลำไส้ใหญ่ หรือกระเพาะอาหารโดยการตัดออกทั้งชิ้น ผ่านทางกล้องที่เรียกว่า ESD (Endoscopic Submucosal Dissection) จากโรงพยาบาลซาโน่ ประเทศญี่ปุ่น มาใช้ในการตรวจวินิจฉัย และการรักษาให้แก่คนไข้อีกด้วย โดยปกติเมื่อแพทย์ตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจส่องกล้อง หากเป็นติ่งเนื้อทั่วไป แพทย์ก็สามารถตัดติ่งเนื้อผ่านการส่องกล้องได้ทันทีแต่ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำได้กรณีที่ติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่ แต่สำหรับเทคนิค ESD ดังกล่าวนี้ แพทย์สามารถตัดก้อนชิ้นเนื้อขนาดใหญ่ออกจากลำไส้ใหญ่ และกระเพาะอาหารได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเหมือนในอดีตที่ผ่านมา โดยสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด ไม่มีแผลที่ผนังหน้าท้อง ลดระยะเวลาการอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า ทำให้คนไข้สามารถกับไปใช้ชีวิตอย่างปกติได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน และปลอดภัย
นอกจากนี้ยังได้นำเทคนิคนี้ มาจัดกิจกรรม Workshop รวมกับการบรรยายทางวิชาการให้กับทีมแพทย์ของทาง รพ. สมิติเวช และแพทย์ระบบทางเดินอาหารของโรงพยาบาลอื่นๆที่ให้ความสนใจ โดยการประชุมวิชาการในครั้งนี้ มีหัวข้อที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในเรื่องต่างๆ ดังนี้
? How to achieve an excellent quality colonoscopy (การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด)
? How to achieve good bowel preparation (การเตรียมลำไส้อย่างไรจึงมีประสิทธิภาพที่สุด)
? How to stratify the risk of colonic polyps ) (การวินิจฉัยแยกความเสี่ยงของติ่งเนื้อแต่ละประเภท)
? How to manage colonic polyps (การรักษาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ตามแนวทางของประเทศญี่ปุ่น)
การฝึกปฏิบัติ มี 2 ส่วนคือ
? ESD workshop sessions (การตัดติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่แบบ ESD)
? How to close the perforation stations (การแก้ไขหากเกิดลำไส้ทะลุ)
ศาสตราจารย์ นพ. ยาซูชิ ซาโน่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลซาโน่ และผู้อำนวยการสถาบันการผ่าตัดส่องกล้องจากประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า สมิติเวชมีชื่อเสียงมากและเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนที่ชาวญี่ปุ่นให้ความเชื่อถือและใช้บริการมาก จากความร่วมมือในนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการส่องกล้องเข้ามาเพื่อช่วยให้ศูนย์โรคตับและทางเดินอาหารสมิติเวชสามารถให้บริการและช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย ที่ผ่านมาได้นำนวัตกรรมต่างๆ มาในการวินิจฉัยและรักษา อาทิ Narrow Band Image – NBI ที่ช่วยให้แพทย์สามารถพบก้อนเนื้อได้ในระยะเริ่มแรกแม้นก้อนเนื้อยังไม่นูนขึ้นมา ย่นเวลาในการผ่าตัด คนไข้ฟื้นตัวเร็ว ลดภาวะแทรกซ้อน เป็นต้น เราเชื่อว่าความก้าวหน้าทางการแพทย์ จะช่วยให้เป็นประโยชน์แก่คุณภาพชีวิตคนไข้มากยิ่งขึ้น และช่วยให้ความอุ่นใจกับผู้ป่วยชาวญี่ปุ่น ชาวไทยและชาวต่างประเทศได้อย่างเต็มที่
สถาบันโรคตับและระบบทางเดินอาหารโรงพยาบาลสมิติเวชมีความเชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยและรักษาโรคที่เกี่ยวกับตับและระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่การวินิจฉัย และการรักษาที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ โรคจากพิษสุรา ตัวแข็ง ภาวะไขมันคั่งสะสมในตับ ตับอ่อนอักเสบ นิ่ว มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ และอื่นๆ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ครบวงจร และมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ศูนย์ดังกล่าวตั้งอยู่ที่บริเวณชั้น 2 ของโรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิท โดยมีแพทย์เฉพาะทางประจำ 10 คน พยาบาล 12 คน แลผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี 4 คน รวมทั้งมีห้องตรวจโรค 12 ห้อง ห้องส่องกล้อง 5 ห้อง และห้องพักฟื้น 10 ห้อง
สถาบันโรคตับและทางเดินอาหารให้บริการแก่ผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ป่วยชาวต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุด โดยในแต่ละปีสมิติเวชให้บริการแก่ผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นมากถึง 120,000 คน หรือประมาณวันละ 400 คนโดยเฉลี่ย ทำให้สมิติเวชเป็นโรงพยาบาลเอกชนนอกประเทศญี่ปุ่นที่ให้บริการชาวญี่ปุ่นมากที่สุด โดยที่สมิติเวชได้เริ่มเปิดบริการศูนย์การแพทย์เฉพาะสำหรับชาวญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคม 2553 โดยมีล่ามภาษาญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้คอยให้บริการ