กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้ประชุมการติดตามผลการดำเนินงานและมอบนโยบายแก่ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) โดยได้กำชับให้ สศร.ขับเคลื่อนแผนงานและภารกิจในปีงบประมาณ 2560 มุ่งเน้นการนำศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมาต่อยอดและสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้แก่ประชาชนและประเทศ และต้องปรับปรุงรูปแบบการประกวดด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยใน 9 สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง วรรณศิลป์ ดนตรีและการขับร้อง สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ เรขศิลป์ ภาพยนตร์ และการออกแบบเครื่องแต่งกายให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยดั้งเดิมและต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ อาทิ ประกวดออกแบบชุดไทย ควรมีทั้งประเภทชุดไทยดั้งเดิมและชุดไทยประยุกต์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดได้แสดงออกความรู้ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลและมีผลงานโดดเด่น จะช่วยสร้างกระแสสังคมให้เกิดความตื่นตัวในการพัฒนาต่อยอดและสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในสาขาต่างๆ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับการวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยใน 9 สาขานั้น ต้องเน้นการต่อยอด สร้างสรรค์และสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและการบริหารงาน อาทิ วิจัยด้านแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สศร.ควรสำรวจและรวบรวมข้อมูลว่าปัจจุบันมีหอศิลป์ของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนในประเทศไทยจำนวนทั้งหมดเท่าใด หลังจากนั้นนำข้อมูลมาวางระบบบริหารจัดการหอศิลป์ให้เชื่อมโยงและบูรณาการระหว่างกัน รวมทั้งสร้างเครือข่ายกับหอศิลป์ในประเทศต่างๆทั่วโลกด้วย ส่วนสาขาการออกแบบเครื่องแต่งกาย ภาพยนตร์ต้องรวบรวมข้อมูลว่าแต่ละด้านสร้างรายได้เข้าประเทศปีละเท่าไร และกำหนดเป้าหมายว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นปีละเท่าใด รวมทั้งวางแผนงานและวิธีดำเนินการให้ชัดเจน อีกทั้งจะต้องสร้างเครือข่ายและบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายวีระ กล่าวด้วยว่า ได้มอบหมายให้ สศร.ไปศึกษาแนวทางการฟื้นฟูรางวัลศิลปาธร เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ศิลปินร่วมสมัย รวมถึงสร้างเครือข่ายศิลปินร่วมสมัยที่ได้รับรางวัล เพื่อขอความร่วมมือมาเป็นวิทยากร ช่วยถ่ายทอดความรู้ให้แก่เยาวชน ครูและประชาชนในกิจกรรมอบรมความรู้ของ สศร. ทั้งนี้ สศร.ต้องปรับรูปแบบการอบรมโดยคัดเลือกเยาวชน ครู ประชาชนที่มีความรู้ความสามารถโดดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมาเข้าอบรม เพื่อนำความรู้ไปขยายผลได้อย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ได้ให้ สศร. ไปศึกษาแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในสาขาที่ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล โดยเชิญนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษา ผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน ศิลปินมาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อคอยให้คำปรึกษาแนะแนวทางการพัฒนาและต่อยอดศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในแต่ละสาขา เพื่อให้การขับเคลื่อนภารกิจตามแผนงานเป็นไปอย่างรอบด้านและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน