กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
องอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) แจ้งเตือน 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี และ เขต 12 สงขลา เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนักบริเวณพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ในช่วงวันที่ 16 - 18 มกราคม 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที่ที่เกิดสถานการณ์ภัย สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากทางราชการอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธาณณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า จากการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2560 กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ในช่วงวันที่ 16 - 18 มกราคม 2560 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร (อำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ และอำเภอละแม) สุราษฎร์ธานี (อำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา อำเภอท่าฉาง อำเภอกาญจนดิษฐ์ และอำเภอดอนสัก) นครศรีธรรมราช (อำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอนบพิตำ อำเภอพิปูน อำเภอพรหมคีรี อำเภอลานสกา อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอจุฬาภรณ์ และอำเภอชะอวด) พัทลุง (อำเภอป่าพะยอม อำเภอศรีบรรพต อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอกงหรา และอำเภอตะโหมด) สงขลา (อำเภอรัตภูมิ) ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยจากน้ำท่วมขัง และมีปริมาณฝนตกสะสมในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ดินอยู่ในสภาพชุ่มน้ำเป็นอย่างมาก กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางจึงได้ประสาน 5 จังหวัดดังกล่าว รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย และประสานข้อมูลสภาพอากาศกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ หากฝนตกหนักถึงหนักมากและสถานการณ์รุนแรง ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย หรือจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว รวมถึงจัดเตรียมเครื่องจักรกลสาธารณภัย เรือ รถปฏิบัติการ ชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน และพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป