กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย กำชับจังหวัดดูแลการดำรงชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในเบื้องต้น พร้อมเร่งเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูที่ครอบคลุมทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์ โดยให้ยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ จะได้บูรณาการทรัพยากรของภาคส่วนต่างๆ ให้เข้าถึงทุกพื้นที่ พร้อมกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหา เพื่อกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึง และประชาชนได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2560 กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) จัดประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) ที่เกี่ยวข้อง 12 สปฉ. เข้าร่วมประชุมฯ ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศ พบว่า ในช่วงวันที่ 16 – 18 มกราคม 2560 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้จะมี ฝนตกเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร จึงได้สั่งกำชับให้จังหวัดเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะมีมวลน้ำไหลมาสมทบ และปริมาณฝนตกซ้ำในจุดเดิม เพื่อเตรียมการรองรับภาวะฝนตกหนักในช่วงดังกล่าว
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้ขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทร เทพยวรางกูร ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด ทั้งนี้ บกปภ.ช. จะได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่ง รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมไปประสานการปฏิบัติในระดับพื้นที่ เพื่อเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และ มิให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต สำหรับการประชุมในวันนี้ได้เน้นย้ำให้จังหวัดบูรณาการหน่วยปฏิบัติระดับพื้นที่ ดูแลด้านการดำรงชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในเบื้องต้น พร้อมเร่งเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยสำรวจข้อมูลผู้เสียชีวิตให้รอบด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงประสานสาธารณสุขและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อป้องกันโรคระบาด รักษาอาการเจ็บป่วย และเยียวยาสภาพจิตใจ ตลอดจนเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูที่ครอบคลุม ทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สิน ด้านการประกอบอาชีพ อาทิ การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ รวมถึงด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ ภายใต้หลักการ "ถอดบทเรียนเพื่อลดความเสี่ยง และซ่อมแซม ให้ดีกว่าเดิม (Build Back Better)" อีกทั้งให้จังหวัดตรวจสอบ (Re X – Ray) พื้นที่ในความรับผิดชอบอีกครั้ง โดยเฉพาะจุดวิกฤตที่อาจมีประชาชนตกค้างและรอการช่วยเหลือจากภาครัฐ บริเวณที่เส้นทางคมนาคม ระบบการสื่อสาร ระบบสาธารณูปโภคใช้การไม่ได้ รวมถึงสถานที่ราชการหรือโรงพยาบาลที่ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลและวางแผนแก้ไขปัญหาให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ในเบื้องต้น
นายชยพล ฐิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า บกปภ.ช. ส่วนหน้าจะได้เชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยกับส่วนปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) ทั้ง 12 ส่วน เพื่อบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรของภาคส่วนต่างๆ ให้เข้าถึงทุกพื้นที่ พร้อมกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหา เพื่อกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึง สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ พร้อมเน้นย้ำจังหวัดบูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินการตามกลไก "ประชารัฐ" ในการประสานฝ่ายปกครอง หน่วยทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร และสื่อมวลชนในพื้นที่ร่วมเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวัง จุดเสี่ยง ตรวจสอบสภาพอากาศ และติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อจะได้แจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ได้กำชับให้จังหวัดยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 และหลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ซึ่งแต่ละจังหวัดมีวงเงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่แล้ว หากไม่เพียงพอสามารถขอขยายเพิ่มเติมผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อประสานให้กรมบัญชีกลางอนุมัติเพิ่มเติมต่อไป ในส่วนของมาตรการพิเศษเพิ่มเติม รัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลและสำรวจความเสียหาย เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดแนวทางการช่วยเหลือตามความเหมาะสม ในส่วนของเงินและสิ่งของบริจาค อาทิ น้ำดื่มสะอาด อาหารแห้ง เสื้อผ้า วัสดุก่อสร้าง ให้จัดทำทะเบียนพร้อมข้อมูลประกอบที่ชัดเจน เพื่อประสานการส่งมอบได้สอดคล้องกับสภาพความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ให้จังหวัดประสานเครือข่ายสื่อมวลชนในพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยในช่วงน้ำท่วม เพื่อป้องกันอันตราย จากการจมน้ำ สัตว์มีพิษ และไฟฟ้าดูด ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด