กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 12 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพรสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต พัทลุง กระบี่ ตรัง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 15 - 20 มกราคม 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย หากสถานการณ์รุนแรง ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและทันท่วงที
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) พบว่า ในช่วงวันที่ 15 – 20 มกราคม 2560 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในสภาพพื้นดินชุ่มน้ำอยู่แล้ว หากมีฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย 12 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต พัทลุง กระบี่ ตรัง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 12 จังหวัดดังกล่าว
ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา เขต 18 ภูเก็ต เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย
โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย และประสานข้อมูลสภาพอากาศกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรณีสถานการณ์รุนแรงให้พิจารณาอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน และชายฝั่งทะเลเตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ ตลอดจนนักท่องเที่ยวควรงดการประกอบกิจกรรมทางทะเลทุกประเภท เนื่องจากขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ทะเลจะมีคลื่นสูงและกำลังแรง ก่อให้เกิดอันตรายได้ ท้ายนี้ ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป