กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
CMMU ชี้หลักสูตรธุรกิจปี 2560 ต้องมุ่งตอบโจทย์ธุรกิจเฉพาะทาง ชู 15 หลักสูตรที่เท่าทันธุรกิจในยุคปัจจุบัน
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยทิศทางการศึกษาปี 2560 พร้อมทำหน้าที่เป็นแพลทฟอร์ม (platform) หรือ แหล่งรวบรวมผู้ประกอบการทุกระดับที่มีความถนัดเฉพาะทาง เพื่อร่วมกันสร้าง และพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม ให้นักศึกษาได้ศึกษาพร้อมๆ กับได้พบปะผู้คนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างคอนเน็คชั่น และความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม (industry engagement) อันจะนำไปสู่การต่อยอด พัฒนาธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้าใจในอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกัน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลยังคงเดินหน้าเติมเต็มระบบนิเวศทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบด้วยการพัฒนาองค์ความรู้สำหรับบุคลากรทุกระดับ ผ่านการพัฒนาหลักสูตรนวัตกรรมการบริหารจัดการกว่า 15 หลักสูตรที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (customized curriculum) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการทำงานจริงสูงสุด
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000
รศ.ดร. ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า จากกระแสความนิยมความเป็นผู้ประกอบการของผู้คนในยุคปัจจุบัน ประกอบกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของทางรัฐบาลที่เน้นย้ำเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการคิดค้นนวัตกรรม ทำให้ภาคการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับอุดมศึกษาต้องตื่นตัว และปรับตัวให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน ที่นอกจากต้องการความรู้ต่างๆ ในห้องเรียน ความรู้จากภาคปฏิบัติแล้ว ยังต้องการประสบการณ์การประยุกต์ใช้ความรู้เข้าสู่การทำงานจริง ในสภาพแวดล้อมจริง ตลอดจนปัจจัยเอื้อต่างๆ ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้จากสถานศึกษา อาทิ คอนเน็คชั่นระหว่างผู้เรียนและคนในวงการธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และตัวแปรอื่นๆ ในระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ (ecosystem)
รศ.ดร. ณัฐสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ฉะนั้น ในปี 2560 นี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) มุ่งมั่นพร้อมทำหน้าที่เป็นแพลทฟอร์ม (platform) หรือ แหล่งรวบรวมผู้ประกอบการทุกระดับที่มีความถนัดเฉพาะทาง เพื่อร่วมกันสร้าง และพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม พร้อมเป็นพื้นที่ให้กับคนทำงานและผู้ประกอบการในบทบาทของนักศึกษา ได้ศึกษาหาความรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไปพร้อมๆ กับการสร้างคอนเนคชั่น ได้พบปะคนทำงานในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม หรือ industry engagement อันจะนำไปสู่การต่อยอด พัฒนาธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความเข้าใจในอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง พร้อมรับมือกับการแข่งขันในเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีตัวแปรตัดสินการประสบความสำเร็จคือ นวัตกรรมที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
รศ.ดร. ณัฐสิทธิ์ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเติมเต็มระบบนิเวศทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลได้สร้างสรรค์หลักสูตรเพื่อรองรับบุคลากรทุกระดับ โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ระดับดังนี้
- หลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูง (SIBA) เพื่อพัฒนาความพร้อมสำหรับผู้บริหารให้มีศักยภาพในการผลักดันองค์กรให้ก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพในการแข่งขัน ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมุมมองทางธุรกิจ อันอาจนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างองค์กร
- หลักสูตรปริญญาโท เพื่อผลิตและพัฒนาประสิทธิภาพกำลังสำคัญในระบบนิเวศทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ
- หลักสูตร 4+1 สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี เพื่อปลูกฝังองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการพื้นฐานให้กับนักศึกษาปริญญาตรีในด้านสาขาวิชาเฉพาะทางต่างๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ ให้สามารถประยุกต์ใช้ความรู้เข้าสู่ภาคธุรกิจ อันจะเป็นกำลังสำคัญรุ่นใหม่ในการเติมเต็มระบบนิเวศทางเศรษฐกิจให้สมบูรณ์
ทั้งนี้ จากโจทย์ที่สถาบันการศึกษาต้องสามารถพัฒนา และสร้างสรรค์บุคลากรให้ตอบโจทย์ธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ทางวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงพัฒนาหลักสูตรนวัตกรรมการบริหารจัดการที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (customized curriculum) ที่เจาะลึกถึงองค์ความรู้ด้านการบริหารในธุรกิจเฉพาะทาง อาทิ ธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจในอุตสาหกรรมสุขภาพ เพื่อสามารถผลิตบุคลากรที่มีทั้งความรู้เฉพาะทางในอุตสาหกรรมนั้นๆ และสามารถบริหารจัดการ ตลอดจนสร้างธุรกิจของตนเองได้อย่างประสบความสำเร็จ รศ.ดร. ณัฐสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน อาจารย์กิตติชัย ราชมหา ประธานสาขาการจัดการธุรกิจอาหาร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า สาขาการจัดการธุรกิจอาหาร เป็นหนึ่งในตัวอย่างของหลักสูตรการบริหารจัดการระดับปริญญาโท ที่เจาะจงเฉพาะสาขา เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้ และทักษะที่ใช้จริงในการทำงานในอุตสาหกรรมอาหาร โดยตัวหลักสูตรจะสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มความรู้ทั่วไปด้านการบริหารจัดการ อันประกอบด้วย การบริหารจัดการ การเงิน การตลาด และกลยุทธ์นวัตกรรม 2. กลุ่มความรู้เฉพาะสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ กฎหมายและมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร 3. กลุ่มความรู้เสริมสำหรับธุรกิจ ที่ผู้เรียนสามารถเลือกได้ตามความสนใจ โดยครอบคลุมทั้งผู้เรียนที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหาร (Food Business Entrepreneurs) และรวมถึงผู้เรียนที่ต้องการพัฒนาความก้าวหน้าในสายอาชีพด้านบริหารในองค์กรด้านอาหารขนาดใหญ่
อาจารย์กิตติชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่จัดตั้งเป็นหลักสูตรเฉพาะทางสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารนั้น ยังได้ประโยชน์ในเรื่องของการเป็นพื้นที่ที่รวบรวม "ผู้คน" ในวงการเดียวกัน ซึ่งเอื้อประโยชน์เป็นอย่างยิ่งทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ในวิชาชีพ และในด้านความร่วมมือกันต่อยอดธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรทางการศึกษา (Education Partner) ที่เป็นหน่วยงานชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานมาตรฐานสินค้าการเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำให้เกิดเป็นความร่วมมือระหว่างอาจารย์ นักศึกษา นักวิจัยในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000