กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--สถาบันอาหาร
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) และนิตยสาร Mother&Care ร่วมกันจัดงานแถลงข่าว "เปิดตัวหนูน้อยยุวทูตอาหารไทยตะลุยแดนสิงคโปร์" ในโครงการสร้างยุวทูตอาหารไทยสู่สากล ณ ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย (Thai Food Heritage) สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กรุงเทพฯ ภายในงานมีการเสวนา หัวข้อ "ขนมจากข้าวไทยสู่เทรนด์อาหารโลก" และมีกิจกรรมเวิร์กช็อป "พริกกะเกลือ" หนึ่งในเมนูทรงโปรดของในหลวงรัชกาลที่ 9
คุณยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงนโยบายของสถาบันอาหารในการส่งเสริมเด็กและเยาวชนไทยในการเรียนรู้เรื่องอาหารไทย ว่า
โครงการสร้างยุวทูตฯ เป็นเรื่องที่สำคัญ การสร้างการรับรู้อย่างถูกต้องในเรื่องของอุตสาหกรรมอาหารไทย หรือคุณประโยชน์อาหารไทย ควรเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เยาวชน วันนี้ อาหารไทยติดอยู่ 1 ใน 5 ของโลก เรามีจุดเด่นในด้านเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของอาหารไทย ไม่ใช่มีแค่ความอร่อย แต่มีคุณประโยชน์ทางยา เป็นยาบำรุงร่างกาย เป็นยารักษาโรค ดังนั้นเกร็ดองค์ความรู้ต่างๆจะต้องถูกปลูกฝังให้กับเยาวชน เพื่อให้เขาเกิดความภูมิใจ เมื่อเวลาที่เขาไปสื่อสารให้กับเพื่อนๆต่อไป เขาสามารถที่จะพูดได้อย่างชัดเจนและน่าเชื่อถือ เพราะเขาเป็นนักเล่านิทานอยู่แล้ว แต่นี่เป็นนักเล่าความจริง นี่เป็นหัวใจที่เราให้ความสำคัญกับโครงการฯนี้มากๆ การที่เราเปิดโลกทัศน์ให้กับเยาวชนไม่ว่าจะไปที่ประเทศใดก็ตาม อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เยาวชนได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ ให้ทราบว่าเพื่อนบ้านวิภาคหรือวิจารณ์อาหารไทยอย่างไร
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้มีโครงการต่างๆ ที่ช่วยให้ประเทศไทยเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ อย่างวันนี้เราจะเห็นเลยว่าในอาเซียนมีหลายประเทศที่ประสบภัยแล้ง แต่ทำไมประเทศของเรายังสมบูรณ์อยู่ ทั้งหมดนี้เกิดจากความทุ่มเทของพระองค์ท่านตลอด 70 ปี" ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย (Thai Food Heritage) เปิดให้ประชาชน เยาวชน นักเรียนนักศึกษา และผู้ที่สนใจ เข้ามาเรียนรู้ว่า ทำไมอาหารไทยเป็นที่นิยม ทำไมอุตสาหกรรมอาหารไทยจึงเติบโตได้ขนาดนี้ ทำไมอาหารของเราถึงเด่นทั้งรสชาติและคุณประโยชน์ต่อร่างกาย เมื่อได้รับรู้และ ซึมซับแล้ว ท่านจะเกิดความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของอาหารไทย
ด้านคุณพีระโรจน์ ศิริปัญจนะ (เชฟใหม่) Moderator Cuisine (Food Travel.tv) และคอลัมนิสต์ นิตยสาร Food Stylist กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับ "ขนมจากข้าวไทยสู่เทรนด์อาหารโลก"
ก่อนอื่นเราต้องมองก่อนเลยว่า บ้านเราเป็นประเทศแห่งเกษตรกรรม รายได้หลักในสมัยก่อน มาจากการที่เราเพาะปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ คนไทยรู้จักดัดแปลง ปรับเปลี่ยนการรับประทานจากข้าวที่หุงสุก โดยนำข้าวชนิดต่างๆ มาแปรรูปเป็นได้หลากชนิด เช่น ข้าวสวยแบบปกตินำมาตากแห้งทำขนมหรือแปรรูปเป็น แป้งข้าวเจ้า-ได้จากข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว-ได้จากข้าวเหนียว เป็นต้น หากเราพูดถึงขนมในที่นี้ สามารถทำได้หลายประเภทด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งขนมไทยแบบดั้งเดิม และขนมของต่างประเทศสไตล์ต่างๆ หากการนำผลผลิตจากข้าวไทย "แป้ง" ไปสู่เทรนด์อาหารโลก นับว่าเป็นการดีที่เราสามารถใช้ผลิตภัณฑ์จากข้าวได้เกิดประโยชน์เพิ่มพูนมากขึ้นไปอีก ทำให้ประชากรที่อาศัยในทั่วทุกมุมโลกได้รู้จักการทำขนมจากข้าวไทยให้มากขึ้น โดยนำข้าวไทยไปปรับเปลี่ยน เสริมเติมแต่งให้กับขนมอื่นๆ ได้มีรสชาติ เนื้อสัมผัสที่แตกต่าง ก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น ถือว่าช่วยพัฒนาประเทศในเรื่องของการใช้ทรัพยากรข้าวไทย และช่วยเพิ่มพูนมูลค่ารายได้ให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างขนมที่ทำจาก ข้าวไทย ที่ใช้ข้าวไทยทำได้โดยตรงและเป็นที่นิยม เช่น ข้าวตู, ขนมนางเล็ด, ข้าวแต๋นน้ำแตงโม ส่วนเมนูที่ทำจากข้าวไทย ในรูปแบบของแป้งที่มาจากข้าว และเป็นที่นิยม เช่น บัวลอย, ครองแครง, ขนมจาก เป็นต้น
"เมนูพริกกะเกลือ" เมนูที่เกิดจากความเรียบง่ายและพอเพียง เพราะใช้ส่วนผสมหลักแค่ มะพร้าวคั่ว น้ำตาลมะพร้าว เกลือนิดหน่อย และถั่วลิสงคั่วป่นเล็กน้อย ความพิเศษของเมนูนี้ หากเป็นสมัยก่อนชาวบ้านทำนิยมใส่ภาชนะไม้ไผ่เป็นบ้องไว้ เก็บไว้รับประทานกับข้าวสวย ยามที่ทำงานในสวน หรือเดินทางไกล เช่นเดียวกับครอบครัวของใหม่ คุณปู่ท่านก็ทำเช่นนี้ ใส่ภาชนะปิ่นโต รับประทานกับปลาย่าง และข้าวสวยร้อนๆ ในยามที่เข้าสวน ทำไร่สมัยก่อนเมนูนี้ เป็นหนึ่งในเครื่องเสวยทรงโปรดใน "รัชกาลที่ 9" เพราะด้วยส่วนผสมที่ไม่ยุ่งยาก หาได้ง่าย อีกทั้ง คุณค่าพลังงานที่ได้รับนั้นมีมากเหลือเกิน ทั้งนี้ สอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ในหนังสือ 'เครื่องต้นก้นครัว' จัดพิมพ์โดยสมาคมนักข่าว คุณหญิงประสานสุข ตันติเวชกุล เคยให้สัมภาษณ์เรื่องพริกกะเกลือที่ทรงโปรดเสวยไว้ในหนังสือ "เครื่องต้น ก้นครัว" ว่า
"…แม้แต่กับข้าวพื้นๆ อย่างที่ชาวบ้านนิยมกันเป็นอาหารจานโปรดด้วยเหมือนกัน หรืออีกอย่างที่ชาวบ้านอาจไม่ค่อยนิยมทำกัน แต่เป็นเครื่องต้นบ่อย และเป็นของง่ายๆ นั่นคือ พริกกะเกลือ…ถ้าตั้งพริกกะเกลือล่ะก็ ข้าวสวยต้องร้อนๆ โปรดมากเชียวค่ะ…
นอกจากทุกพระองค์จะเสวยง่ายๆ ธรรมดาๆ ตั้งอะไรก็เสวยอย่างนั้น ไม่เคยมีเสียงบ่น หรือติอะไรแล้ว ยังทรงประหยัดอีกด้วย…" จะเห็นถึงความเรียบง่ายและพอเพียงในพระองค์ท่านได้อย่างชัดเจน
ปิดท้ายด้วย คุณพนิดา เอี่ยมศิรินพกุล เจ้าของหนังสือ 'เข้าครัวกับตัวจิ๋ว' บรรณาธิการ/นักเขียนสำนักพิมพ์ยาหยี และคุณแม่ของน้องชื่นใจ ได้ให้ข้อคิดในการดูแลเรื่องอาหารและโภชนาการของลูกว่า..
"โภชนาการอาหารของลูกสำหรับเรานั้นให้ความใส่ใจค่อนข้างมาก เพราะอาหารคือแหล่งพลังงาน และช่วยในเรื่องพัฒนาการทั้งทางร่างกายและสมอง รวมทั้งเราเชื่อว่าสุขภาพที่ดีนั้นเริ่มต้นง่ายๆจากอาหาร ในแต่ละวันเราจะคอยดูให้สารอาหารครบ 5 หมู่ค่ะ"
12 หนูน้อยยุวทูตอาหารไทยตะลุยแดนสิงคโปร์
ด.ญ. รุ่งรดา รุ่งลิขิตเจริญ (อินเตอร์) กทม.
ด.ช. ธนกฤต โชโต (นโม) สงขลา
ด.ช. เดชาธร วสุรัตต์ (เทล) นนทบุรี
ด.ญ. อรนภัค ทสภานนท์ (ถิงถิง) ปัตตานี
ด.ช. สิริพงษ์ เลี้ยงบุญเลิศชัย (บอส) กทม.
ด.ช. จิรวัฒฑนันท์ จิวรวัฒนกุล (ต้นน้ำ) เชียงใหม่
ด.ญ. ปานรัตน ปานรงค์ (ปราง) สุราษฎร์ธานี
ด.ญ. รพิรัตน์ พิพิธพัฒนากร (เอมอร) สุพรรณบุรี
ด.ช. วรวัฒนพงศ์ กงแก้ว (อิกคิว) ลำปาง
ด.ญ. ธัญลักษณ์ ตันติสุธนารมย์ (ออม) กทม.
ด.ญ. นัชชา ประกอบแสง (ป้อน) ร้อยเอ็ด
ด.ช. นวมินทร์? สบายใจ (แอนดริว) กทม.
หนูน้อยยุวทูตอาหารไทยทั้ง 12 คน จะเป็นตัวแทนในการร่วมเผยแพร่อาหารไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน อันจะช่วยให้อาหารไทยเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายในระดับนานาชาติ รวมทั้งจะได้ร่วมเปิดโลกกว้างแห่งการเรียนรู้ ได้สัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลายที่สิงคโปร์ ในวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งสถานที่ทัศนศึกษา ได้แก่ Sport Hub Library ให้เด็กๆได้สนุกและเรียนรู้ห้องสมุดทางการกีฬา เกมส์พัฒนาสมองและศักยภาพต่างๆ, Universal Studio of Singapore ให้เด็กๆได้รับประสบการณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจกับ 7 โซนของยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ สิงคโปร์, Garden By The Bay ให้เด็กๆได้เรียนรู้ชื่นชมกับต้นไม้นานาพันธุ์กับการจัดสวนที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะสิงคโปร์ และดื่มด่ำกับธรรมชาติบนทางเดินลอยฟ้าเชื่อมต่อกับ Super tree ที่สามารถเห็นทัศนียภาพอันงดงามของอ่าวและสวนโดยรอบ เป็นต้น
สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของการจัดกิจกรรมได้ที่ www.motherandcare.in.th และfacebook/motherandcare สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 02-241-8000 ต่อ 212, 214, 215