กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--อพวช.
อพวช. จับมือมหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เฟ้นหานักเขียนวิทย์เป็นปีที่ 2 ใน "โครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 2" หวังส่งเสริมให้เยาวชนไทย และประชาชนทั่วไป เกิดความตื่นตัวและสนใจในเรื่องราวด้านวิทยาศาสตร์และการสื่อสารวิทยาศาสตร์ผ่านงานเขียนเรื่องสั้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลงานเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ ชิงเงินรางวัลกว่า 250,000 บาท และโล่เกียรติยศ หมดเขตรับสมัคร 21 เม.ย. 60
นางกรรณิการ์ เฉิน กรรมการบริหารสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมป์ กล่าวว่า "โครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ได้รับความร่วมมือจาก องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นเวทีในการสื่อสารความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ผ่านงานเขียน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และฝึกฝนกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ และยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลงานเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ และจากการดำเนินการประกวดในปีที่ผ่านมา โครงการฯ นี้ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และยังได้รับความร่วมมือจากสำนักพิมพ์นานมีบุ๊ค ในการสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานของนักเขียนที่ได้รับรางวัล ในหนังสือชื่อ "เสี้ยวบทสนทนานิรันดร์" ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ไปสู่ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น"
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)กล่าวว่า "อพวช. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ พร้อมส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ ให้กับเยาวชน และประชาชนทั่วไป และการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ก็เพื่อเฟ้นหานักเขียนแนววิทย์รุ่นใหม่ ที่จะกลายเป็นนักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์สู่สังคม โดยเวทีนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่รักการเขียน และรักในวิทยาศาสตร์ ได้ใช้จินตนาการถ่ายทอดงานเขียนแนววิทยาศาสตร์ในรูปแบบเรื่องสั้น และส่งผลงานมาเข้าประกวด
สำหรับปีนี้ เราหวังว่าจะได้รับผลงานที่มีคุณภาพจากนักเขียนรุ่นใหม่ที่สนใจในเรื่องวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจ โดยแบ่งการประกวดออกป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.)ประเภทเยาวชน อายุตั้งแต่ 15 ปี แต่ไม่เกิน 25 ปี 2.) ประเภทประชาชนทั่วไป ไม่จำกัดเพศ อายุ ปละวุฒิการศึกษา 3.) ประเภทกลุ่ม 2 คน นักเขียนร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจและมีความต้องการพัฒนาทักษะการเขียนของตนด้วย ได้เข้าอบรมทักษะการเขียนเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันที่ 25 – 26 มีนาคม 2560 ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เวลา 10.00 น. – 17.30 น. ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี กรุงเทพฯ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2577 9999 ต่อ 1472 , 1473"
รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "ทางมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในเรื่องวิทยาศาสตร์ รวมทั้งส่งเสริมงานด้านวิชาการ และงานวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย ซึ่งหลายๆคนมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่โครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ได้เผยแพร่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเรื่องที่เราสามารถเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งหวังว่าผลงานจากนักเขียนรุ่นใหม่ที่เข้าประกวดในโครงการ ฯ นี้ เมื่อได้ตีพิมพ์ผลงานออกสู่สายตาผู้อ่าน ก็จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ผู้ที่ได้อ่านได้เข้าถึงเรื่องราววิทยาศาสตร์ได้ง่ายยิ่งขึ้น และสังคมก็เข้าใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นในอนาคต"
คุณบูรพา อารัมภีร นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า "ปัจจุบันงานเขียนในรูปแบบวรรณกรรมเป็นที่ยอมรับในสังคม แต่วรรณกรรมวิทยาศาสตร์จากนักเขียนคนไทยอาจยังมีไม่มากนัก อาจเนื่องมาจากสาระความรู้ทางวิทยาศาสตร์ดูเป็นเรื่องที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ยาก แต่งานเขียนด้านวิทยาศาสตร์ที่ดีนั้นต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงการเรียบเรียงเนื้อหาให้เข้าใจง่าย ชัดเจน และน่าสนใจ และสำหรับการจัดประกวดครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการมีวรรณกรรมด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มสู่สังคมมากขึ้น ทั้งยังช่วยสร้างทัศนคติและเจตคติด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่ผู้อ่านได้ และผลงานเขียนจากนักเขียนรุ่นใหม่เหล่านี้ ถือว่าวรรณกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคมวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย"
สำหรับผู้สนใจสมัครเข้าประกวดฯ สามารถดาวน์โหลดใบสมัคร ได้ทางเว็บไซต์ www.nsm.or.th โดยหมดเขตส่งผลงานเข้าประกวดในวันที่ 21 เมษายน 2560 นี้เท่านั้น สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2577 9999 ต่อ 1472"