กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
สมอ. แถลง 3 เดือน กำหนดมาตรฐานตามนโยบาย S-Curve แล้ว 32 เรื่อง ตั้งเป้าสิ้นปีต้องไม่ต่ำกว่า 79 เรื่อง เร่งพัฒนาระบบ E-License เพิ่มช่องทางการให้บริการ คาดกลางปีนี้ได้ใช้
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2559 ว่า สมอ. ได้ปรับปรุงกระบวนการกำหนดมาตรฐานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองทันกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและเป็นไปตามนโยบาย S-Curve โดยมาตรฐานทั่วไปจากเดิมใช้เวลากำหนด 315 วัน ลดลงเหลือ 150 วัน มาตรฐานบังคับจากเดิมใช้เวลากำหนด 445 วัน ลดลงเหลือ 180 วัน ขณะเดียวกันได้เร่งพัฒนาหน่วยงานเครือข่ายด้านการกำหนดมาตรฐาน (Standard Development Organization : SDO) มาช่วยดำเนินกำหนดมาตรฐาน ในรอบ 3 เดือน ได้กำหนดมาตรฐานกลุ่ม S-Curve แล้ว 32 เรื่อง
สำหรับการลดขั้นตอนการอนุญาตตามนโยบาย Ease of Doing Business ในการทำธุรกิจ และ พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกของหน่วยงานอนุญาต เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายการอนุญาต ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย สมอ. ได้ปรับกระบวนการออกใบอนุญาตเหลือเพียง 15 วันทำการ โดยการยอมรับผล SDoC และลดการตรวจประเมินโรงงานในต่างประเทศ โดยการขึ้นทะเบียนโรงงานในต่างประเทศมีอายุ 3 ปี พร้อมแจ้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่โรงงานต้องปฏิบัติภายหลังการขึ้นทะเบียนให้โรงงาน เพื่อลดภาระต้นทุนและอำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้าสินค้าที่ได้มีการนำเข้าจากโรงงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว นอกจากนี้ ได้ถ่ายโอนงานการตรวจประเมินโรงงานให้หน่วยรับรองหน่วยตรวจ (Inspection Body-IB) ดำเนินงานแทน สมอ. ปัจจุบัน สมอ. แต่งตั้ง IB แล้ว 14 หน่วยงาน และเริ่มถ่ายโอนงานแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 มีมาตรฐานที่ถ่ายโอนในครั้งแรกจำนวน 173 มาตรฐาน เป็นมาตรฐานบังคับจำนวน 43 มาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 40 ของงานของ สมอ. และหลังจากที่ สมอ. ได้ปรับลดขั้นตอนการอนุญาตลง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-เดือนพฤศจิกายน 2559 สมอ. ได้ดำเนินการออกใบอนุญาต ให้ผู้ทำ ผู้นำเข้า ไปแล้วทั้งสิ้น 1,258 ฉบับ และใช้ระยะเวลาการออกใบอนุญาตโดยเฉลี่ยเพียง 10 วันทำการ/เรื่อง เท่านั้น
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการออกใบอนุญาตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ สมอ. กำลังอยู่ระหว่างการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพิจารณาออกใบอนุญาต (E-License) เพื่อรองรับ Industry 4.0 และเพิ่มช่องทางการให้บริการรับคำขอใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และคาดว่าจะเริ่มนำระบบดังกล่าวมาใช้ประมาณกลางปีนี้
สำหรับมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการให้ความช่วยเหลือชาวเกษตรกรสวนยางพาราจากวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางแล้วจำนวน 7 มาตรฐาน ได้แก่ แอสฟัลต์ซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ แผ่นยางปูพื้น บล็อกยางปูพื้น แผ่นยางปูสนามฟุตซอล ฟองน้ำลาเท็กซ์สำหรับทำหมอน ฟองน้ำลาเท็กซ์สำหรับทำที่นอน และน้ำยางคอมพาวด์เคลือบผ้าปูสระกักเก็บน้ำ
ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ สมอ. ได้จัดสัมมนา เพื่อขอข้อคิดเห็นแผนหลักโครงการจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ที่โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยที่ปรึกษาได้ปรับปรุงแผนหลักโครงการตามข้อคิดเห็น และ สมอ. เห็นชอบแล้ว
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ สมอ. ยังมีงานสำคัญอีกหนึ่งโครงการที่ สมอ. เปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมากับโครงการ "ร้าน มอก." จัดทำขึ้น เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. และประกาศเกียรติคุณแก่ร้านจำหน่ายสินค้าที่ใส่ใจในความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการเลือกซื้อสินค้าที่ได้มาตรฐานมากขึ้น โดย สมอ. ดำเนินการรับสมัครผู้ประกอบการ คัดเลือก และส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ หากผ่านเกณฑ์กำหนดจะมอบป้ายสัญลักษณ์ "ร้าน มอก." โดยมีอายุการรับรอง 3 ปี ซึ่งขณะนี้มีร้านจำหน่ายทั่วประเทศได้รับป้ายสัญลักษณ์ "ร้าน มอก." ไปแล้วจำนวน 8 ราย รวม 434 สาขา ดังนี้
• ห้างโมเดิร์นเทรดที่เข้าร่วมโครงการ
1. บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) 98 สาขา
2. บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ชิสเทม จำกัด (Lotus) 173 สาขา
3. บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) 78 สาขา
4. บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด 42 สาขา
5. Global House 40 สาขา
• ร้านจำหน่ายทั่วไปที่เข้าร่วมโครงการ
1. บริษัท ไฟฟ้าชัยมงคล จำกัด กรุงเทพฯ
2. บริษัท ฮ.รุ่งเรืองดิจิตอล (2000) จำกัด กรุงเทพฯ
3. บริษัท ฮ.รุ่งเรือง จำกัด กรุงเทพฯ
และจากการลงพื้นที่ตรวจติดตามร้านจำหน่ายที่เข้าร่วมโครงการ "ร้าน มอก." ในจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก และนครสวรรค์ ยังไม่พบการกระทำผิดตามเงื่อนไขร้าน มอก. ขณะเดียวกันมีร้านจำหน่ายสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอีกจำนวน 5 ราย โดย สมอ. มีแผนการดำเนินงานที่จะขยายเครือข่ายร้าน มอก. ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนเลือกใช้สินค้าได้ด้วยความมั่นใจ และปลอดภัย โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 5 ปี จะมีร้าน มอก. ครบ 10.000 แห่งทั่วประเทศ