กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ สั่งการ 5 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ตรัง และสงขลา เตรียมรับมือฝนตกหนักในช่วงวันที่ 16 - 18 มกราคม 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด แจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม พร้อมย้ำจังหวัดแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย จัดหาสถานที่เหมาะสมสำหรับจัดการเรียนการสอน รวมถึงจัดหาน้ำสะอาดให้บริการประชาชน สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายให้ตรวจสอบการช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการเยียวยาอย่างครบถ้วนและครอบคลุมทุกด้าน ตลอดจนวางแผนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว ด้วยการสำรวจและแก้ไขสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางทางน้ำไหล พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่
วันที่ 16 มกราคม 2560 กรุงเทพมหานคร : กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) จัดประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) ที่เกี่ยวข้อง 12 สปฉ. เข้าร่วมประชุมฯ ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝน พบว่า ในช่วงวันที่ 16 – 20 มกราคม 2560 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักบางแห่งโดยผลกระทบแบ่งเป็น 2 ห้วง ดังนี้ ช่วงวันที่ 16 - 18 มกราคม 2560 ในพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา โดยมีปริมาณฝนประมาณ 50 – 90 มิลลิเมตรต่อวัน และช่วงวันที่ 19 - 21 มกราคม 2560 ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลานราธิวาส ตรัง และสตูล มีปริมาณฝนประมาณ 50 – 90 มิลลิเมตรต่อวัน และบางพื้นที่จะมีฝนตกมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน บกปภ.ช. จึงได้สั่งการ5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ตรัง และสงขลา ซึ่งยังมีสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมรับมือฝนตกและฝนตกหนักบางแห่ง รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด แจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม โดยติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด หากสถานการณ์รุนแรงให้จังหวัดพิจารณาอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ พร้อมดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและขั้นตอนการปฏิบัติที่กำหนด
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยประสานจังหวัดที่ประสบภัยแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณที่มีน้ำท่วมขังและทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งสาธารณประโยชน์ให้ใช้งานได้ตามปกติ พร้อมสำรวจโรงเรียนและสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ให้จัดหาสถานที่ที่เหมาะสม อาทิ หอประชุม สำหรับจัดการเรียนการสอนทดแทนสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เพื่อมิให้กระทบต่อระบบการศึกษา รวมถึงจัดหาน้ำสะอาดให้บริการแก่ประชาชน ทั้งในจุดพักพิงและบ้านเรือนประชาชน โดยนำรถผลิตน้ำดื่มออกแจกจ่ายน้ำพร้อมเป่าล้างบ่อบาดาล ทำความสะอาดบ่อน้ำตื้น และซ่อมแซมระบบประปาให้ใช้งานได้ทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอและไม่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีพในเบื้องต้น
นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนอำนวยการ ภายใต้ บกปภ.ช. เน้นย้ำให้จังหวัดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายตรวจสอบการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ได้รับการเยียวยาอย่างครบถ้วนและครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะด้านชีวิตให้จ่ายเงินค่าจัดการศพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมตรวจสอบสถานภาพของครอบครัวผู้เสียชีวิต เพื่อประสานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลผู้ประสบภัย รวมถึงเร่งสำรวจความเสียหายด้านการประกอบอาชีพของผู้ประสบภัย ครอบคลุมทั้งด้านการเกษตรการประมง และปศุสัตว์ ซึ่งในเบื้องต้นจะได้รับเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 ซึ่งต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการสำรวจความเสียหาย สำหรับผู้ที่ขึ้นทะเบียนประกอบกิจกรรมเกษตรและอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมครัวเรือนละ 3,000 บาท
นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนสนับสนุน ภายใต้ บกปภ.ช. กล่าวว่า บกปภ.ช. ได้ประสานให้จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เฝ้าระวังฝนตกหนักในช่วงวันที่ 16 – 20 มกราคม 2560 โดยเฉพาะที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำตาปี บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง พื้นที่โดยรอบทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ต่อเนื่องทะเลสาบสงขลา บริเวณอำเภอระโนด และอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่มได้ โดยเคลื่อนย้ายทรัพยากรและระดมสรรพกำลังจากจุดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปยังจุดวิกฤต เพื่อให้พร้อมปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ ภายใต้ บกปภ.ช. กล่าวว่า บกปภ.ช.ได้ประสานจังหวัดจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อชดเชยความเสียหายด้านชีวิตและทรัพย์สิน โดยยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด สำหรับบ้านเรือนที่เสียหายหน่วยทหารจะได้ร่วมกับนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษา เครือข่ายด้านช่างในพื้นที่ซ่อมแซมบ้านเรือนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ส่วนด้านการประกอบอาชีพ จะจ่ายเงินเยียวยาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน สำหรับสิ่งสาธารณประโยชน์ อาทิ ถนน สะพาน ท่อลอด ให้กระทรวงคมนาคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักเร่งซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมให้ใช้สัญจรได้ตามปกติโดยเร็ว ด้านการประปาและไฟฟ้าให้การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสำรวจความเสียหายและเร่งดำเนินการซ่อมแซม เพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว นอกจากนี้ ได้ประสานให้จังหวัด วางแผนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว โดยจัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด ทำหน้าที่สำรวจสิ่งปลูกสร้างและบ้านเรือนที่กีดขวางทางน้ำไหล พร้อมวางแนวทางการป้องกันปัญหาอุทกภัยเชิงโครงสร้างและไม่ใช้โครงสร้าง โดยน้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ รวมถึงจัดทำแผนงานโครงการเสนอมายัง บกปภ.ช.เพื่อรวมรวบเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในคราวลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมต่อไป