กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันทุกชนิดลดลง โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาดูไบ (Dubai) ลดลง 0.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95ลดลง 1.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลลดลง 0.88เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยลบต่อราคาน้ำมัน
· Energy Information Administration (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดย ปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 110,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 300,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· นาย Ahmed Maiteeg รองนายกรัฐมนตรีลิเบียภายใต้รัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติ (UN) เผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลิเบีย เพิ่มขึ้นราว 50,000 บาร์เรลต่อวัน เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 750,000 บาร์เรลต่อวัน หลังจากสามารถเจรจาเปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่ง El Sharara ได้สำเร็จ ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 60 ที่ผ่านมาได้เริ่มขนส่งน้ำมันดิบดังกล่าวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยมีจุดส่งมอบที่ประเทศฝรั่งเศส
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 6 ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 483.1 ล้านบาร์เรล สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้จะเพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 1.2 ล้านบาร์เรล
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบ WTI ในตลาด ICE ที่ลอนดอนและตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ม.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5,151 สัญญา มาอยู่ที่ 327,057 สัญญา ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2
ปัจจัยบวกต่อราคาน้ำมัน
· Reuters รายงานซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวตต่างเริ่มลดการผลิตน้ำมันดิบเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงควบคุมเพดานการผลิตของ OPEC ให้อยู่ที่ 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มต้นตั้งแต่เดือน ม.ค. 60
· Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในเดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ 11.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าเดือน ธ.ค. 59 ปริมาณ 100,000 บาร์เรลต่อวัน อนึ่งรัสเซียตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบปริมาณ 300,000 บาร์เรลต่อวัน ในครึ่งแรกของปี 60 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงกับกลุ่มประเทศ OPEC
· นาย Falah al-Amri รัฐมนตรี OPEC ของอิรัก เผยแผนลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตทางตอนใต้ ให้อยู่ระหว่าง 3.10-3.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับ 3.51 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ธ.ค.59 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกลุ่ม OPEC
· Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ม.ค.60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 7 แท่น มาอยู่ที่ 522 แท่น นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 7 เดือนที่จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบลดลง
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ปรับตัวลดลงจากการขายทำกำไร หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนหน้าซึ่งสนับสนุนโดยการลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตกลุ่ม OPEC ถึงแม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนจะไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับนักลงทุน แต่ยอดการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนยังอยู่ในระดับสูง โดยในเดือน ธ.ค. 59 ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 9% ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 8.57 ล้านบาร์เรลต่อวันและสูงกว่าปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบสูงสุดในปี 2559 ของสหรัฐฯ ที่ 8.09 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้โรงกลั่นอิสระในจีนนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นก่อนหน้ากลุ่ม OPEC บรรลุข้อตกลงในการลดกำลังการผลิต นอกจากนี้สภาพภูมิอากาศที่หนาวจัดในยุโรปและสหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานของน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆที่ใช้สร้างความอบอุ่น เช่นพายุหิมะบริเวณแม่น้ำ Danube ในเยอรมนีทำให้การขนส่งสินค้าต่างๆ ต้องถูกระงับ หรือในสหรัฐฯ ล่าสุดNorth Dakota Department of Mineral Resources ประเมินการผลิตน้ำมันดิบของรัฐ North Dakota ในสหรัฐฯ จะลดลงต่ำกว่าระดับ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงปลายเดือน ม.ค. 60 เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่หนาวจัด และเกิดพายุหิมะรุนแรง อนึ่งการผลิตน้ำมันดิบในรัฐ North Dakota มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าแหล่งอื่นๆ เนื่องจากขาดแคลนระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ให้จับตามองสถานการณ์การเมืองในลิเบีย ถึงแม้ล่าสุดจะมีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น แต่ยังมีกลุ่มติดอาวุธพยายามเข้ายึดอาคารกระทรวงกลาโหมและกระทรวงแรงงานแต่ไม่ประสบความสำเร็จ หากเกิดความรุนแรงขึ้นอีกครั้งอาจทำให้การผลิตน้ำมันดิบของลิเบียลดลงได้ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 53.0-57.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ระหว่าง 50.0-54.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ น้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 51.0-55.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงจาก Platts รายงานโรงกลั่นน้ำมัน Qinzhou (240,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท PetroChina ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันเบนซินรายใหญ่ทางใต้ของจีน กลับมาดำเนินการเมื่อสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ดีอัตราการกลั่นที่หน่วย Fluid Catalytic Cracker (80,000 บาร์เรลต่อวัน) ยังอยู่ในระดับต่ำ และ โรงกลั่นDalian (200,000 บาร์เรลต่อวัน) มีแผนส่งออกน้ำมันเบนซินเดือน ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 935,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 1.275 ล้านบาร์เรล อนึ่ง โรงกลั่น Dalian เป็นโรงกลั่นแรกที่กลับมาส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ภายใต้โควต้าการส่งออกของ General Trade Scheme อีกทั้งกรมศุลกากรไต้หวันรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน ธ.ค.59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 30.7% อยู่ที่ระดับ 2.55 ล้านบาร์เรล และปริมาณส่งออกรวมในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13.5% อยู่ที่ 34.93 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน ของญี่ปุ่นสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.19 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 10.93 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 360,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.74 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts คาดการณ์ว่าอินโดนีเซียจะนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.1 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบปีครึ่ง และ กระทรวงปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติของอินเดียรายงานปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินในประเทศ ปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 61,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 574,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ให้จับตามองผลกระทบจากเหตุไฟไหม้ที่หน่วย RFCC (130,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Ruwais 2 (420,000 บาร์เรลต่อวัน) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งต้องปิดดำเนินการฉุกเฉิน ถึงแม้ปัจจุบันยังไม่ส่งกระทบต่อตลาดมากนัก เนื่องจากโรงกลั่นดังกล่าวมีปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเพียงพอในการส่งออกตามแผน แต่หากปัญหายืดเยื้อและทำให้โรงกลั่นไม่สามารถดำเนินการตามปกติได้ภายในสัปดาห์นี้ตามแผน อาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันเบนซินขัดสน และส่งผลให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67-71.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลงจาก Platts รายงานอุปสงค์น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่นในตลาดเอเชียเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ Kerosene เริ่มชะลอตัว โดยภูมิอากาศในญี่ปุ่นสัปดาห์ก่อนไม่หนาวเย็นรุนแรง และ Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซียรายงานความต้องการใช้น้ำมันดีเซลปี 2559 อยู่ที่ 480,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปีก่อน 3,000 บาร์เรลต่อวัน และปริมาณการนำเข้าลดลงจากปีก่อน 30,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 110,000บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ อินโดฯ เปลี่ยน สัดส่วนกำมะถันในน้ำมันดีเซล จาก 3500 ppm ลดเป็น 2500 ppm นับเป็นการปรับครั้งแรกในรอบ 10 ปี ประกอบกับ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 7ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.08 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.62 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานสภาพอากาศในยุโรปหนาวจัด อุณหภูมิในเยอรมนีและฝรั่งเศสอาจลดลงอีก 3.5-4 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ การใช้ไฟฟ้าในทั้งสองประเทศรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของทั้งยุโรป ทำให้มีแนวโน้มอาจนำเข้าน้ำมันดีเซลจากเอเชียเพิ่มขึ้น และ Platts รายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซลจากเวียดนามแข็งแกร่ง อาทิ Saigon Petro ซื้อ 0.05 %S ปริมาณ 85,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งมอบ 22-26 ก.พ. 60 และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ม.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 580,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.76 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 63-67.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล