กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบร่างแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ.2560-2564 ตามที่ วธ.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเสนอ การจัดทำแผนแม่บทดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันสภาพสังคมและเศรษฐกิจของทุกประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างมาก ส่งผลให้ทุกประเทศต้องปรับตัว ที่สำคัญต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ ดังนั้นการอ่านและการเรียนรู้จึงเป็นกลไกหนึ่งในกระบวนการจัดการความรู้ หรือพัฒนาการของความรู้ที่จะเกิดขึ้นภายในหน่วยงาน ชุมชน สังคมและประเทศ วธ.เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพประชากรผ่านการอ่านและการเรียนรู้ในการส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่าน แสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องและเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ โดยการปลูกฝังผ่านมิติทางวัฒนธรรม ที่สำคัญยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ที่กำหนดให้"ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ด้วย
นายวีระ กล่าวว่า สำหรับร่างแผนแม่บทฯ ระยะ 5 ปีในการแก้ปัญหาสังคมที่เป็นวิกฤตด้านวัฒนธรรมและเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่และปลูกฝังค่านิยมแก่ประชาชนทุกช่วงวัยในการรักการอ่าน เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถและการคิดอย่างสร้างสรรค์ จนสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองให้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ศึกษาแนวทางเรื่องดังกล่าวจากการส่งเสริมการอ่าน จากเกาหลี สิงคโปร์ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง รวมทั้งประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและตัวแทนภาคประชาสังคม นอกจากนี้ วธ.ได้หารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดร่างแผนแม่บทฯ
?นายวีระ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของร่างแผนแม่บทฯ กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า "คนทุกวัยในสังคมไทยมีวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็ง และวางเป้าหมายภายใน 5 ปี คนไทยใช้เวลาในการอ่านที่มีคุณภาพมากขึ้นเฉลี่ย 90 นาทีต่อวัน จากเดิม 66 นาทีต่อวัน รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมในระดับชุมชนและสังคม ที่สนับสนุนให้คนไทยทุกช่วงวัยมีพฤติกรรมรักการอ่านและการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง และมีทักษะการอ่านที่มีคุณภาพสามารถนำความรู้มาใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงทำให้เกิดการบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อดำเนินการร่วมกันอย่างต่อเนื่องให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านขึ้นกับคนไทยทุกช่วงวัยและนำสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ในท้ายที่สุด โดยการดำเนินงานจะใช้ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1. ปลูกสร้างพฤติกรรมรักการอ่านที่เข้มแข็งให้กับคนทุกช่วงวัย ซึ่งมีหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนคือ วธ. ศธ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และมีหน่วยงานสนับสนุน อาทิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน
2.อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการอ่านของประชาชนทั้งในชุมชนเมืองและภูมิภาค หน่วยงานร่วมขับเคลื่อน คือ วธ. ศธ. มท. ส่วนหน่วยงานสนับสนุน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักนายกรัฐมนตรี อปท.และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน
3.ยกระดับคุณภาพแหล่งเรียนรู้และสื่อการอ่านเพื่อการเรียนรู้ มีหน่วยงานร่วมขับเคลื่อน คือ วธ. ศธ. มท. และหน่วยงานสนับสนุน อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์(พณ.) อปท. สสส. และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เป็นต้น
และ 4.สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน มีหน่วยงานร่วมขับเคลื่อน คือ วธ. ศธ. มท. องค์กรรัฐ เอกชน หรือองค์กรสาธารณะ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการดำเนินเรื่องดังกล่าว วธ. ไม่สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่างๆ ได้เพียงลำพัง ต้องทำงานบูรณาการร่วมกับทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนร่างแผนแม่บทฯระยะ 5 ปี ที่สำคัญร่างแผนดังกล่าวกำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560-2564 อีกด้วย