กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ตลาดเก่า 100 ปี สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณชุมชนเลียบสันติสุข ต. แก่งคอย อ. แก่งคอย จ.สระบุรี โดยที่เกิดเหตุเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น และได้ลุกลามไปยังบ้านไม้ 2 ชั้น ตึกแถวด้านข้างอีกจำนวน 18 คูหา ซึ่งเป็นตึก 4 ชั้น มีทั้งห้างร้านทอง ร้านค้า และคลินิก เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบ้านเรือนถูกเพลิงเผาวอด รวมทั้งสิ้น 56 หลัง นั้น
สำนักงาน คปภ. ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีผู้เสียหายจำนวน 2 ราย ที่ได้มีการทำประกันภัยอัคคีภัย โดยรายแรกเป็นอาคารพาณิชย์ 4 คูหา ซึ่งได้ทำประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 ฉบับ รวมทุนประกันภัยทั้งสิ้น 8,000,000 บาท ฉบับแรกแบ่งเป็นความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างตัวอาคาร (ไม่รวมฐานราก) จำนวนเงิน 800,000 บาท และความคุ้มครองสต็อกสินค้า จำนวนเงิน 1,000,000 บาท รวมทุนประกันภัย 1,800,000 บาท และกรมธรรม์ฉบับที่สอง ความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างตัวอาคาร (ไม่รวมฐานราก) รวมเฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่งติดตั้งตรึงตรา เครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ จำนวนเงิน 3,200,000 บาท และสต็อกสินค้า เสื้อผ้า และของใช้เบ็ดเตล็ดต่างๆ จำนวนเงิน 3,000,000 บาท ทุนประกันภัยรวมทั้งสิ้น 6,200,000 บาท ส่วนรายที่สองเป็นอาคารพาณิชย์ 1 คูหา ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ไว้กับบริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างตัวอาคาร (ไม่รวมฐานราก) จำนวนเงิน 773,150 บาท ซึ่งขณะนี้ บริษัทประกันภัยได้ส่งผู้ประเมินวินาศภัยหรือเซอร์เวย์เยอร์เข้าไปสำรวจความเสียหายแล้ว เพื่อการประเมินชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริง ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. ภาค 4 จังหวัดสระบุรี ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ และมอบหมายให้ประสานบริษัทประกันภัยเร่งสรุปความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วยความรวดเร็ว ถูกต้องและเป็นธรรมต่อไป
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า อุบัติเหตุและอุบัติภัยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยที่เราไม่คาดคิด และเมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังนั้น ไม่ควรประมาทและมองข้ามความสำคัญของการทำประกันภัยที่เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ดีที่สุด ที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระความเดือดร้อนของท่านได้ ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองหรือความเกี่ยวเนื่องกับไฟไหม้ เช่น ประกันอัคคีภัย จะให้ความคุ้มครองตัวอาคาร เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้สำนักงาน สต๊อกสินค้า เครื่องจักร และเครื่องตกแต่งที่ติดตั้งไว้กับตัวอาคาร โดยให้ความคุ้มครองไฟไหม้ ฟ้าผ่า และการระเบิดของแก๊สที่ใช้ทำแสงสว่างหรือประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย ส่วนการประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย จะให้ความคุ้มครอง สิ่งปลูกสร้างหรือตัวอาคารใช้เป็นที่อยู่อาศัย (ไม่รวมฐานราก) ทรัพย์สินภายในบ้าน สิ่งที่ติดกับตัวอาคาร หรือเครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้าน โดยให้ความคุ้มครอง ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน ภัยจากน้ำที่เกิดจากการรั่วซึมภายในอาคาร (ไม่รวมน้ำท่วม) รวมถึงภัยธรรมชาติ 4 ภัย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม ภัยลมพายุ ภัยลูกเห็บ และภัยแผ่นดินไหว สำหรับประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) จะให้ความคุ้มครองกว้างกว่าอัคคีภัย เช่น ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหว ภัยลมพายุ ภัยลูกเห็บ การโจรกรรมและอุบัติเหตุจากสาเหตุที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อยกเว้น เป็นต้น โดยประชาชนผู้ประกอบการต่างๆสามารถเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยได้ตามความเหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงของตนเอง โดยขอให้พิจารณาจากสถานที่ตั้ง และลักษณะการใช้อาคารของผู้เอาประกันภัย รวมทั้งความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัย ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยด้านการประกันภัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th หรือ ฝ่ายสื่อสารองค์กร โทรศัพท์ 02-515-3998-9 ต่อ 8307 โทรสาร 02-513-1437 http://www.facebook.com/PROIC2012