กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "โทษประหารชีวิต" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9 – 11 มกราคม 2560 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทบทวนโทษประหารชีวิตของผู้กระทำผิดคดีต่าง ๆ ในประเทศไทย การสำรวจอาศัยการ สุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อ "โทษประหารชีวิต" ว่าควรมีต่อไปหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.12 ระบุว่า ควรมีโทษประหารชีวิตต่อไป ขณะที่ ร้อยละ 8.00 ระบุว่า ไม่ควรมีโทษประหารชีวิตต่อไป และร้อยละ 4.88 ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการนำ "โทษประหารชีวิต" มาใช้โดยไม่มีการลดโทษ ในคดีร้ายแรง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.32 ระบุว่า ควรมีการนำ "โทษประหารชีวิต" มาใช้โดยไม่มีการลดโทษในคดีร้ายแรง เพราะ การบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยยังอ่อนมาก ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่มักจะไม่หลาบจำ เมื่อมีโอกาสลดหย่อนโทษก็จะออกมากระทำผิดซ้ำอีก ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือได้รับความเสียหาย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ต้องบังคับใช้กฎหมายบทลงโทษประหารชีวิตให้เด็ดขาด โดยเฉพาะในคดีร้ายแรง เช่น ฆ่าผู้อื่น เพื่อเป็นบทเรียนให้กับคนอื่นต่อไป และน่าจะช่วยลดคดีการก่ออาชญากรรมไปด้วย ขณะที่ ร้อยละ 11.20 ระบุว่า ไม่ควร เพราะ ควรให้โอกาสสำหรับผู้ที่กระทำผิด บางคนอาจจะทำเพราะเหตุบันดาลโทสะ หรือไม่ได้เจตนา และถ้าหากเคยเป็นผู้ที่ทำความดี ให้การเป็นประโยชน์และสำนึกได้ ก็สมควรได้รับการลดโทษ ควรให้โอกาสแก้ตัวและกลับตัวกลับใจ และในบางครั้งก็เคยมีการตัดสินคดีผิดพลาดมาแล้ว แต่ถ้ากระทำผิดซ้ำอีกก็ไม่ควรได้รับการลดโทษ ต้องดูเป็นรายกรณีไป และร้อยละ 2.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อคดีที่ผู้กระทำผิดสมควรได้รับโทษประหารชีวิต มากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.57 ระบุว่า เป็นคดีฆ่าข่มขืน รองลงมา ร้อยละ 22.04 ระบุว่า เป็นการกระทำผิดซ้ำในคดีร้ายแรง ร้อยละ 10.65 ระบุว่า เป็นคดีฆ่าคนตายโดยเจตนา ร้อยละ 3.12 ระบุว่า เป็นคดียาเสพติด ร้อยละ 2.48 ระบุว่า เป็นคดีปล้นชิงทรัพย์แล้วฆ่า ร้อยละ 1.47 ระบุว่า เป็นคดีทำร้ายผู้อื่น จนเสียชีวิต ร้อยละ 1.10 ระบุว่า เป็นคดีทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 1.47 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ คดีก่อการร้าย, คดีทำร้ายร่างกายอุกฉกรรจ์, การข่มขืน, และขึ้นอยู่กับรูปแบบคดีและดุลยพินิจของศาล และร้อยละ 1.10 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเพิ่มโทษผู้ที่กระทำผิดซ้ำในคดีร้ายแรง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.40 ระบุว่า ควรมีการเพิ่มโทษผู้ที่กระทำผิดซ้ำในคดีร้ายแรง เพราะ กังวลว่า ถ้ามีการปล่อยตัวออกมาก็จะต้องกระทำผิดซ้ำอีกครั้ง ผู้ที่กระทำผิดไม่ได้เกรงกลัวกฎหมาย ไม่มีความเข็ดหลาบจำ ต้องบังคับใช้กฎหมายให้เด็ดขาด และการกระทำผิดซ้ำถือเป็นเรื่องที่ไม่น่าให้อภัย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับโอกาส แต่ยังกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก ถือว่าเป็นการเจตนา และไม่ควรให้ออกมาอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ผู้บริสุทธิ์จะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่ออาชญากรซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขณะที่ ร้อยละ 4.56 ระบุว่า ไม่ควร เพราะ มีบทลงโทษสูงสุดที่เป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว เช่น การฆ่าคนตายโทษสูงสุดคือประหารชีวิต และต้องบังคับใช้ให้เด็ดขาดตั้งแต่ครั้งแรก ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องดูเป็นรายกรณี เช่น ว่าเป็นการเจตนาหรือไม่อย่างไร และต้องคำนึงถึงด้านสิทธิมนุษยชนด้วยเนื่องจากเป็นมนุษย์เหมือนกัน ควรให้รัฐบาลจัดหางาน การฝึกอาชีพให้มีงานทำ เพื่อจะได้ ไม่หันกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก และร้อยละ 3.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.72 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.60 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.00 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.68 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.00 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 52.72 เป็นเพศชาย และร้อยละ 47.28 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 8.48 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 18.88 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.36 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 33.04 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 16.96 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.28 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 94.64 ระบุว่า นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.12 ระบุว่า นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.80 ระบุว่า นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.44 ไม่ระบุศาสนา
ตัวอย่าง ร้อยละ 22.00 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 72.80 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.76 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.44 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 28.32 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 32.08 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.64 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 23.60 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.12 จบการศึกษาสูงกว่า ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 10.88 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.64 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 23.36 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.64 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.64 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.40 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.28 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.16 เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 2.00 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 17.68 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.08 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 30.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 10.56 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.92 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.00 ไม่ระบุรายได้