กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ สั่งการ 12 จังหวัด ได้แก่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เตรียมรับมือฝนตก ปานกลางและฝนตกหนักในช่วงวันที่ 17 - 22 มกราคม 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด แจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม พร้อมเน้นย้ำจังหวัดเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล เพื่อรองรับฝนที่จะตกในระลอกใหม่ อีกทั้งจัดทำแผนการฟื้นฟู ให้สอดคล้องกับความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินขีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว
วันที่ 17 มกราคม 2560 กรุงเทพมหานคร : กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) จัดประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) ที่เกี่ยวข้อง 12 สปฉ. เข้าร่วมประชุมฯ ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝน พบว่า ในช่วงวันที่ 17 – 22 มกราคม 2560 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีฝนตกปานกลางและฝนตกหนักบางแห่ง ในพื้นที่ 12 จังหวัด ดังนี้ ช่วงวันที่ 17 มกราคม 2560 ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา และช่วงวันที่ 18 - 22 มกราคม 2560 ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขณะที่ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 6 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตรัง และประจวบคีรีขันธ์ บกปภ.ช. จึงได้สั่งการให้จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือฝนตกและฝนตกหนักบางแห่ง รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด แจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม โดยติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด หากสถานการณ์รุนแรงให้จังหวัดพิจารณาอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ พร้อมดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและขั้นตอนการปฏิบัติที่กำหนด
นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนอำนวยการ ภายใต้ บกปภ.ช. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยประสานจังหวัดเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยเร็ว โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เพียงพอ เพื่อรองรับฝนที่จะตกในระลอกใหม่ ระหว่างวันที่ 17 – 22 มกราคม 2560 ส่วนพื้นที่ประสบภัยที่มีน้ำเน่าเสียให้ใช้จุลินทรีย์ชีวภาพ (EM) บำบัดน้ำเสีย พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล เพื่อสูบน้ำที่เน่าเสียออกจากพื้นที่ สำหรับโรงเรียนหรือสถานศึกษาในพื้นที่ประสบอุทกภัยจนไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ ให้จังหวัดจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม อาทิ ศาลาวัด หอประชุมของสถานที่ราชการ เป็นพื้นที่จัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจัดบริการอำนวยความสะดวก ด้านการเดินทางและอุปกรณ์การเรียนการสอนแก่นักเรียน ควบคู่กับการฟื้นฟูสถานศึกษาที่ประสบภัยให้สามารถจัดการเรียนการสอน ได้ตามปกติ รวมถึงจัดหาน้ำสะอาดให้บริการแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในจุดพักพิง และบ้านเรือนประชาชน โดยนำรถผลิตน้ำดื่มออกแจกจ่ายน้ำ พร้อมเป่าล้างบ่อบาดาล ทำความสะอาดบ่อน้ำตื้น และซ่อมแซมระบบประปาให้ใช้งาน ได้ทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอและไม่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีพในเบื้องต้น
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ ภายใต้ บกปภ.ช. กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมเริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดเจ้าหน้าที่ จำนวนกว่า 980 คน พร้อมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยสนับสนุนการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระดับพื้นที่อย่างเต็มกำลังจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์อุทกภัยเริ่มให้สำรวจความเสียหาย จัดทำแผนการฟื้นฟูให้สอดคล้องกับความเดือดร้อน ของผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการดำรงชีพ การประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินขีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว