กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การพัฒนาเมืองต่างๆ ทั่วโลก ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ขาดการพัฒนาอย่างสมดุลทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตั้งแต่ระดับโลกจนถึงระดับชุมชน โดยในการประชุม Rio + ๒๐ ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกที่ได้นำแนวนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ และปัจจุบันได้สานต่อนโยบายสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ ๔ : การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษา ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเป็นธรรมและส่งเสริมการพัฒนาสภาพแวดล้อมเมืองศูนย์กลางของจังหวัดให้เป็นเมืองน่าอยู่ (๑ จังหวัด ๑ เมืองน่าอยู่)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ผลักดันและขับเคลื่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองของประเทศให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปี ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งมุ่งเน้นการเสริมสร้างความสมดุลของการพัฒนาเป็นแนวทางขับเคลื่อนเครือข่ายเมืองน่าอยู่สู่เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Green City) เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs)
นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้แปลงนโยบายและเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals ; SDGs) สู่การปฏิบัติ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้ดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ๑. กิจกรรมส่งเสริมท้องถิ่นสู่สังคมสีเขียว (Local Agenda 21; LA 21 Green Social Network) มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินงาน และภาคประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ของตนเองอย่างยั่งยืน และร่วมมือกันขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นของตนเองให้น่าอยู่ก้าวไปสู่สังคมสีเขียวซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่สมัครเข้าร่วมดำเนินงาน ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ (เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด) รวมจำนวนมากกว่า ๒๐๐ แห่ง และมีพื้นที่ต้นแบบเพื่อการพัฒนาสู่จังหวัดสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสกลนคร จังหวัดสตูล จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดลำปาง ๒. การพัฒนาเครื่องมือ เกณฑ์ชี้วัดเทศบาลน่าอยู่ และเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Green City) ๔ องค์ประกอบ ได้แก่ เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน, เทศบาลแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี, พัฒนากลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงาน, และการประเมินผลเพื่อให้เทศบาลต่างๆ ทั่วประเทศได้นำไปใช้เป็นแนวทางสำหรับการประเมินตนเอง และกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน นอกจากนี้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้จัดประกวดเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และ ๓. การพัฒนายกระดับแหล่งเรียนรู้ การจัดการสิ่งแวดล้อมของเทศบาลน่าอยู่ต้นแบบระดับประเทศสู่มาตรฐานเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนระดับภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการจัดเวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้ เผยแพร่ผลงานของเครือข่ายและภาคีร่วมดำเนินงานระดับประเทศ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้แบบก้าวกระโดด ตลอดจนส่งเสริมให้ชุมชน ท้องถิ่น และประชาชนเกิดความตระหนักและมีส่วนร่วมในกิจกรรมลดมลพิษ การจัดการของเสีย คัดแยกขยะจากครัวเรือนและชุมชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและวิถีการดำเนินชีวิตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกันสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี
ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามภารกิจ และเกิดการพัฒนาขับเคลื่อนเครือข่ายเมืองน่าอยู่ และสิ่งแวดล้อมเมืองอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงจัดให้มีประชุมชี้แจงการขับเคลื่อนเครือข่าย เมืองน่าอยู่ ขึ้น ในระหว่างวันที่ 18 – 19 มกราคม 2560 ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อหารือและชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน และประสานความร่วมมือของชุมชน ท้องถิ่น ภาคีร่วมดำเนินงาน และประชาชนในการส่งเสริมเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Green City) และต้นแบบการจัดการขยะ ผ่านกลไกประชารัฐ ๑ จังหวัด ๑ เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน โดยเชิญผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสถาบันการศึกษา จำนวน 200 คน เข้าร่วมการประชุม