กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 ติดตามพื้นที่เพาะปลูกหอมแดงและกระเทียมจังหวัดเพชรบูรณ์ ระบุ ปีนี้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม เนื่องจากปีที่ผ่านมาราคาดี เผย มกราคมนี้เริ่มเก็บเกี่ยว และออกตลาดมากสุดเดือนกุมภาพันธ์ ร้อยละ 50 แนะ เกษตรกร สามารถมัดจุกแขวน แบ่งชะลอการขายผลผลิตเพื่อเก็งราคาไว้ก่อนได้ ในช่วงที่ผลผลิตออกตลาดมากพร้อมกันทั้งภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผักมากมายหลายชนิด โดยเกษตรกรจะปลูกหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปี และพืชไร่ต่าง ๆ ซึ่งสามารถสร้างรายได้แก่เกษตรกรหมุนเวียนได้ตลอดปี โดยเฉพาะ หอมแดง และกระเทียม ซึ่งมีแหล่งปลูกมากที่อำเภอเมือง หนองไผ่ และหล่มสัก
จากการติดตามของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 จังหวัดนครสวรรค์ (สศท.12) พบว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ราคาหอมแดงสดที่เกษตรขายได้ในจังหวัดเพชรบูรณ์ กิโลกรัมละ 10 - 12 บาท และกระเทียมสดกิโลกรัมละ 19 - 20 บาท จูงใจให้เกษตรกรหันมาขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น ซึ่ง สศท.12 ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลปริมาณการผลิตหอมแดง และกระเทียม ปี 2559/60 ช่วงเดือนธันวาคม 2559 พบว่า
หอมแดง มีเนื้อที่เพาะปลูก ประมาณ 3,352 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 89 ผลผลิตรวมประมาณ 7,530 ตัน กระเทียม มีเนื้อที่เพาะปลูก ประมาณ 2,025 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 68 ผลผลิตรวมประมาณ 1,828 ตัน เนื่องจากปีนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวย ปริมาณน้ำค่อนข้างสมบูรณ์ ประกอบกับปีที่ผ่านมาราคาดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษามากขึ้น
สำหรับผลผลิตหอมแดง และกระเทียม จะเริ่มเก็บเกี่ยวเดือนมกราคมนี้ และออกตลาดมากที่สุดเดือนกุมภาพันธ์ ร้อยละ 50 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจะออกสู่ตลาดใกล้เคียงกับผลผลิตภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น ผลผลิตจะเก็บเกี่ยวออกตลาดพร้อมกันหลายจังหวัดรวมทั้งเพชรบูรณ์ ตลอดช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ซึ่งหากเกษตรกรเห็นว่าราคาหอมแดง และกระเทียมสด ช่วงเริ่มเก็บเกี่ยวยังไม่เป็นที่พอใจ สามารถมัดจุกแขวน ชะลอการขายผลผลิตไว้ก่อนได้ เมื่อผลผลิตภาคอื่นๆ เริ่มออกตลาดลดน้อยลงประมาณเดือนเมษายนเป็นต้นไป คาดว่าราคาจะสูงขึ้น จึงทยอยนำออกขายได้ต่อไป