กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
การสร้างอาชีพให้แก่คนพิการเป็นอีกหนึ่งในพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานพระราชดำรัสว่า "งานช่วยคนพิการนี้ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าผู้พิการมิได้เป็นผู้ที่อยากพิการ แต่อยากช่วยตนเอง ถ้าเราไม่สามารถช่วยเขาให้สามารถที่จะปฏิบัติงานอะไรเพื่อชีวิตและมีเศรษฐกิจของครอบครัวจะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัว หนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้น นโยบายที่จะทำก็คือ ช่วยเขาให้ช่วยตนเองได้ เพื่อที่จะให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม"
แม้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 จะมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2554 ซึ่งกฎกระทรวงว่าด้วยการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 กำหนดให้สถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตรา 100:1 แต่จนถึงปัจจุบันมีสถานประกอบการเป็นจำนวนมากยังไม่สามารถรับคนพิการเข้าทำงานได้เพราะความไม่มั่นใจเรื่องสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ และปัญหาการขาดทักษะในการปฏิบัติงานของคนพิการ ดังนั้นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และคณะกรรมการส่งเสริม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงได้จัด "โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ" ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงการนำร่องดำเนินการตามยุทธศาสตร์การเพิ่มโอกาสให้คนพิการได้รับบริการทางการศึกษาที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 โดยมุ่งหวังให้คนพิการได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับความต้องการของสถานประกอบการและคนพิการ นอกจากนี้เพื่อให้สถานประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรา 35 ซึ่งเป็นทางเลือกให้สถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐที่ยังไม่พร้อมรับคนพิการเข้าทำงานในสถานประกอบการของตนเอง สามารถช่วยเหลือคนพิการให้ได้รับความรู้เพื่อเปิดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพแทนการจ้างงานได้โดยเข้าร่วมสนับสนุนงบประมาณการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการกับ มจธ.เช่น บริษัท ดานิลี่ จำกัด, บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ศรีไทย มิยากาวา จำกัด, บริษัท มาราธอน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เสถียรอุตสาหกรรม จำกัด
"เจ้าหน้าที่สำนักงาน" อาชีพที่เหมาะสมแก่คนพิการ และเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ
อาจารย์สุชาติ เพริดพริ้ง ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการพัฒนาศักยภาพให้คนพิการสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้หลากหลาย จากประสบการณ์ 2 รุ่น ที่ผ่านมา ทำให้ได้เรียนรู้ถึงปัญหาและความต้องการมากขึ้น ในรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 3 จึงได้จัดอบรมหลักสูตร "เจ้าหน้าที่สำนักงาน" ขึ้น เพราะเป็นตำแหน่งที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการทุกแห่งที่จำเป็นต้องมีบุคลากรในด้านนี้ และเป็นอาชีพที่คนพิการสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่ต้องได้รับการเรียนรู้และฝึกทักษะให้มีความสามารถครบถ้วนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อให้คนพิการมีความรู้ที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่สำนักงาน ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับการฝึกอบรมทักษะความรู้ ได้แก่ การพัฒนาทักษะทางสังคม วัฒนธรรมและการมีส่วนร่วม, การพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศ, การพัฒนาทักษะคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต และทักษะความรู้ด้านวิชาชีพในหลักสูตร "เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน/ธุรการ" ประกอบด้วย ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสำนักงาน สภาพแวดล้อมความปลอดภัยในการทำงาน การสื่อสารภายในองค์กร การใช้โทรศัพท์ การต้อนรับ การเขียนจดหมาย การเขียนรายงาน งานพัสดุ การจัดการงานเอกสาร เป็นต้น นอกจากการสร้างอาชีพเจ้าหน้าที่สำนักงานแล้ว ในปี 2560 โครงการฯ เตรียมที่จะขยายหลักสูตรอาชีพด้านบริการให้กับคนพิการ อาทิ โอเปอร์เรเตอร์ และคอลเซ็นเตอร์ ซึ่ง มจธ.ได้รับความร่วมมือจาก เอไอเอส จะจัดส่งวิทยากรเข้าร่วมในโครงการเพื่อฝึกอบรมทักษะการให้บริการด้านการสื่อสารแก่คนพิการอย่างมืออาชีพ จากนั้นค่อยพัฒนาหลักสูตรด้านอาชีพอื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นต่อไป
รับคนพิการเข้าทำงานไม่ใช่เรื่องยาก 'เอสเอ็มอี' ก็ทำได้
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) และประธานคณะกรรมการส่งเสริม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึงประสบการณ์และที่มาของการริเริ่มโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ ว่า ก่อนที่บริษัทจะเข้าร่วมโครงการกับ มจธ.ทางบริษัทต้องนำเงินจ่ายสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามมาตรา 33 ปีละ109,500 บาทต่อคนพิการหนึ่งคน ซึ่งตอนนี้กองทุนมีเงินหมื่นกว่าล้านบาทแต่กลับไม่ค่อยได้นำมาใช้ประโยชน์
"ถ้ารู้จักที่จะไปหาคนพิการแล้วเอาเงินหนึ่งแสนบาทไปให้คนพิการได้พัฒนาศักยภาพ เพื่อให้เขาสามารถทำงานได้ก็น่าจะมีประโยชน์มากกว่า " คือเราไม่อยากหาปลาให้คนกินแต่อยากสอนคนให้จับปลาเป็น" ดังนั้นทางบมจ. ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ และมจธ.จึงริเริ่มทำโครงการร่วมกัน โดยให้ มจธ.นำเงินที่ต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคนพิการ เมื่อเขาผ่านการฝึกอบรม-ฝึกงานไปก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน และโอกาสที่คนพิการกลุ่มนี้จะได้เข้าไปทำงานในสถานประกอบการก็มีมากขึ้นเพราะมีความพร้อมทำงาน สามารถดูแลตัวเองและทำงานกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ได้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องคอยกังวล โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก หรือSME นั้น หากจะรับคนพิการเข้าทำงานไม่ใช่เรื่องยากเพราะเราสามารถเตรียมตัวได้ล่วงหน้า หรือหากไม่พร้อมก็สามารถนำเงินที่ต้องไปจ่ายกองทุนฯ ทุกปีเข้ามาสนับสนุนโครงการฯ นี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการก็จะได้ประโยชน์มากกว่าและยังเป็นภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรด้วย หาก SME รายใดที่ยังไม่มั่นใจก็สามารถเข้ามาดูความสำเร็จจากบริษัทหรือหน่วยงานที่รับคนพิการเข้าทำงานได้ เช่น บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ บริษัท ฮงเส็งการทอ จำกัด เป็นต้น สำหรับ บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์นั้นปัจจุบันรับคนพิการเข้าทำงานจำนวนกว่า 40 คน จากพนักงาน 3,000 คน ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายกำหนด มีทั้งคนพิการด้านการเคลื่อนไหวและด้านการได้ยิน และการทำงานที่ผ่านมามีผลงานเป็นที่น่าพอใจมาก และข้อดีของการรับคนพิการเข้าทำงานยังช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้คนปกติทำงานได้ดีมากขึ้นด้วย"
ความพิการไม่ใช่อุปสรรคในการทำงาน
นายอนุวัฒน์ พัฒนา หรือน้องบอย ผู้ที่ต้องสูญเสียขาขวาจากอุบัติเหตุตั้งแต่อายุ 19 ปี จนกลายมาเป็นคนพิการด้านการเคลื่อนไหว ปัจจุบันน้องบอยอายุ 22 ปี แม้จะต้องอาศัยขาเทียมในการเคลื่อนไหว แต่น้องบอยก็ได้รับโอกาสเข้าทำงานใน บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ น้องบอยเล่าว่า ขณะที่ประสบอุบัติเหตุกำลังเรียนอยู่ชั้น ปวส.ด้านการตลาด จึงไม่ได้เรียนต่อ ต้องอยู่แต่ในบ้าน ชีวิตก็ไม่รู้ทำอะไร นั่งๆ นอนๆ ดูทีวีไปวันๆ วันหนึ่งแม่ชวนให้ไปทำงานกับบริษัทที่แม่ทำงานด้วย จึงลองมาสมัครดูซึ่งก็ได้รับโอกาสจากบริษัทฯ ให้ทำงานในแผนกฟรอยด์ ซึ่งเป็นงานนั่งโต๊ะไม่ต้องเคลื่อนไหวมาก มีเพียงเครื่องมือสำหรับตัดฟรอยด์เท่านั้น
ส่วนบรรยากาศการทำงานและเพื่อนร่วมงานตลอดจนหัวหน้างาน ทุกคนปฏิบัติกับเราเหมือนคนปกติ ไม่ได้มองว่าเป็นคนพิการที่ต้องคอยรับความช่วยเหลือ น้องบอยบอกว่า "การได้มาทำงานนอกจากทำให้มีรายได้นำมาใช้จ่าย ช่วยแบ่งเบาภาระให้ครอบครัวและทำให้ได้ออกมาใช้ชีวิตอยู่ภายนอกบ้านแล้ว ยังทำให้รู้สึกเหมือนคนปกติทั่วไป ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิการที่ใครๆ ต้องเข้ามาช่วย"
นายสนั่น กล่าวว่า พนักงานทุกคนทำงานภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับของบริษัทอย่างเท่าเทียมกันทั้งคนปกติและคนพิการ คนปกติได้สิทธิอย่างไร คนพิการก็ได้สิทธิเช่นเดียวกัน ไม่ได้มีสิทธิพิเศษ เช่นกรณีของน้องบอย ถึงแม้ในช่วงหน้าฝนอาจเดินทางมาทำงานที่ไม่สะดวกนักเพราะขาเทียมที่สวมเป็นไม้อาจเกิดปัญหาได้ ทำให้ต้องลาหยุด ซึ่งบริษัทฯ ก็ให้สิทธิลาพักได้เช่นเดียวกับพนักงาน ดังนั้นเมื่อพนักงานไม่รู้สึกถึงความแตกต่างก็จะมีความสุขในการทำงาน ซึ่งการสร้างบรรยากาศแบบนี้ทำให้คนพิการรู้สึกว่าเขานั้นก็เป็นคนปกติ ประกอบกับคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมฯ หรือมีทักษะความรู้พื้นฐานมาก่อน เขาก็จะสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เร็ว และเรียนต่อด้วยตัวเองได้ จึงมั่นใจว่าคนพิการสามารถทำงานได้และดีด้วย อยากชักชวนให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ มากขึ้น เพราะจะได้ช่วยเหลือสังคมได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
สำหรับสถานประกอบการที่จะรับคนพิการเข้าทำงานนั้น คำแนะนำเบื้องต้นควรพิจารณาว่างานแผนกไหนเหมาะกับคนพิการประเภทใดที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือได้รับอันตรายจากการใช้เครื่องจักรหนักและต้องจัดหางานที่มีความปลอดภัยที่สุด นอกจากนี้จะต้องมีการจัดอบรมพนักงานคนพิการเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ขณะที่ "โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ"ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการสู่ภาคอุตสาหกรรม ของมจธ.จะช่วยสร้างโอกาสให้คนพิการได้รับการพัฒนาความสามารถ ค้นพบศักยภาพในการทำงาน และอาชีพนำไปสู่รายได้ และสถานประกอบการได้โอกาสรับคนพิการที่มีความพร้อมเข้าทำงานได้ทันที"