กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา เปิดค่ายถ่ายทอดนาฏศิลป์การแสดงให้ครูและนักเรียนชายแดนใต้ วิเคราะห์เนื้อหาแข่งทักษะ 5 ปีย้อนหลัง ป้อนเทคนิคศิลปะทุกแขนงพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ต่อยอดเข้าแข่งขันเวทีประกวดภาครัฐ-เอกชน
ดร.จรรย์สมร ผลบุญ อาจารย์โปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา(มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงค่ายถ่ายทอดนาฏศิลป์สู่ความเป็นเลิศด้านทักษะการแสดงในชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ว่า จัดขึ้นในวันที่ 4-5, 11-12 และ 18 มี.ค.นี้ ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รับผู้เข้าอบรม 40 คน ได้แก่ นักเรียน ครู/อาจารย์ ระดับประถมและมัธยมจากสถานศึกษาของรัฐและเอกชนใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ สงขลา (อ.จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และ เทพา) ซึ่งเป็นครูผู้สอนหรือรับผิดชอบด้านศิลปะการแสดง หรืออยู่ชุมนุมนาฏศิลป์ เข้ารับการพัฒนาทักษะด้านศิลปะการแสดง เพื่อให้ผู้อบรมนำความรู้ที่ได้ไปบูรณาการร่วมกับการเรียนการสอน และประยุกต์เพื่อการแข่งขันทักษะด้านศิลปะการแสดงแขนงต่างๆ ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมด้านการแสดง
อาจารย์โปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสานสัมพันธ์ชายแดนใต้ผ่านค่ายศิลปกรรมศาสตร์ มีที่มาจากการเล็งเห็นว่าศิลปะการแสดงของสถานศึกษาในปัจจุบัน ปรากฏในเวทีการแข่งขันทักษะวิชาการจำนวนมาก และเกือบทุกโรงเรียนต้องการเพิ่มพูนความรู้ความสามารถของนักเรียนในการแข่งขัน เนื่องจากเมื่อใกล้ถึงเวลาแข่งจะมีการเชิญอาจารย์ในโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง มรภ.สงขลา ไปถ่ายทอดทักษะด้านการแสดงให้แก่นักเรียนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ทางโปรแกรมฯ จึงได้กิจกรรมดังกล่าวขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยนำองค์ความรู้ในแขนงต่างๆ ได้แก่ นาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์ร่วมสมัย โนรา ละคร และการสร้างสรรค์เครื่องประดับสำหรับการแสดงระบำพื้นบ้าน ที่ทางผู้จัดทำโครงการได้วิเคราะห์เนื้อหาของการแข่งขันทักษะใน 5 ปีย้อนหลัง โดยใช้คณาจารย์ในโปรแกรมฯ เป็นวิทยากร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญการแสดงแต่ละแขนง มีความเป็นเลิศในด้านการสร้างสรรค์ และถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปะการแสดงทุกแขนง ไปถ่ายทอดให้กับเยาวชนในชุมชนให้มีความมั่นใจ และพัฒนาทักษะด้านการแสดงให้เป็นที่ประจักษ์
"โอกาสเดียวกันนี้ ครูผู้สอนยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ด้านศิลปะการแสดง และยังเป็นการทบทวนความรู้เดิมหรือรับความรู้ใหม่ของชุดการแสดงแต่ละแขนง เพื่อนำไปสู่การถ่ายทอดต่อสังคมให้คนในชุมชนได้สร้างสุนทรียภาพ ซึ่งในแต่ละปีการศึกษาหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนส่งเสริมการประกวดทักษะด้านนาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์พื้นบ้าน นาฏศิลป์อาเซียน ด้านการแสดงละคร ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปแข่งขัน และยังเป็นการปลูกฝังความหวงแหนในนาฏศิลป์อีกด้วย" ดร.จรรย์สมร กล่าว