กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ภาวะฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2559 ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ ซึ่งได้ขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ประสบอุทกภัย ได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้รัฐบาลดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย และช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุมทุกมิติ
รัฐบาล โดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้ประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยจากระดับ 2 (สาธารณภัยขนาดกลาง) เป็นระดับ 3 (สาธารณภัยขนาดใหญ่) พร้อมเชื่อมโยงการจัดการปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบภายใต้กลไกกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนกลาง) ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ส่วนหน้า) ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการอำนวยการ และประสานการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
- เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ประสานข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติพร้อมประเมินสถานการณ์ เพื่อประสานแจ้งเตือนจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย
- ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนเผชิญเหตุ โดยให้จังหวัดกำหนดจุดเสี่ยงภัยและจุดปลอดภัย หากพื้นที่ใดสถานการณ์รุนแรงให้อพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ประกอบอาหารเลี้ยงผู้ประสบภัย สำหรับประชาชน
ที่ไม่อพยพออกจากพื้นที่ ให้สนับสนุนถุงยังชีพ และแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคตามวงรอบครอบคลุมทุกครัวเรือนอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ
- ดูแลด้านการดำรงชีพครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการจัดหาอาหาร และน้ำดื่มสะอาดให้เพียงพอ การรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนบริเวณจุดอพยพ ศูนย์พักพิงชั่วคราว และบ้านเรือนประชาชน พร้อมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้การรักษาพยาบาลทางกาย เยียวยาสภาพจิตใจผู้ประสบภัย และป้องกันโรคติดต่อในช่วงน้ำท่วม รวมถึงแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียกรณีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน อีกทั้งซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้า ประปา และการสื่อสารให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง กรณีน้ำท่วมสถานศึกษาให้จัดหาสถานที่ชั่วคราวจัดการเรียนการสอน และจัดบริการอำนวยความสะดวก ด้านการเดินทางและอุปกรณ์การเรียนการสอนแก่นักเรียน
- เยียวยาผู้ประสบภัย และฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยครอบคลุม 3 ด้านหลัก ดังนี้
1.ด้านการดำรงชีพ มุ่งเน้นการดูแลชีวิตและทรัพย์สิน การช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะการซ่อมแซมบ้านและที่อยู่อาศัย ให้กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา สำนักงานโยธาธิการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ซึ่งกำหนดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
2.ด้านการประกอบอาชีพ อาทิ การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำรวจความเสียหายและจ่ายเงินเยียวยาตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำหนดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
3. ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ อาทิ ถนน สะพาน ท่อลอด ให้กระทรวงคมนาคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมให้สัญจรได้ตามปกติ ด้านประปา ไฟฟ้า มอบหมายการประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดำเนินการแก้ไขให้ใช้งานได้ทุกพื้นที่ สำหรับสถานที่ราชการต่างๆ ให้เป็นความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน
- วางระบบบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน พร้อมสานต่อแนวพระราชดำริและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ ด้วยการวางระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ การสำรวจ และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางทางน้ำไหล การขุดคูคลอง เพื่อเพิ่มเส้นทางการไหลของน้ำ ให้น้ำระบายลงสู่ทะเลโดยเร็ว รวมถึงการปฏิรูปกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคาร ตลอดจนให้จังหวัดจัดทำแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะยาว ส่งให้ บกปภ.ช. รวบรวมเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติและจัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมุ่งบูรณาการทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาอุทกภัยและให้การช่วยเหลือประชาชนในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้าอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ควบคู่กับการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะยาว เพื่อให้ประเทศไทยพ้นวิกฤตภัยแล้งและอุทกภัยอย่างยั่งยืน และนำพาประเทศไทยไปสู่ความ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"