กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
แบตเตอรี่รถยนต์เป็นอุปกรณ์จัดเก็บและจ่ายกระแสไฟฟ้าของรถยนต์ ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้ขับขี่มักประสบปัญหาแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ ทำให้เครื่องยนต์ดับและสตาร์ทไม่ติด การพ่วงแบตเตอรี่จึงเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ระบบไฟฟ้าทำงานได้ตามปกติในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนนำรถไปตรวจสอบ ซึ่งการพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์อย่างไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะการเลือกใช้แบตเตอรี่ และพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์อย่างถูกวิธี ดังนี้
การเลือกใช้แบตเตอรี่รถยนต์
ใช้แบตเตอรี่รถยนต์ที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัย
เลือกแบตเตอรี่ที่มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งานของรถแต่ละรุ่น โดยมีขนาดแอมแปร์เท่ากับหรือมากกว่าที่ติดมากับรถยนต์
มีความจุไฟฟ้าเหมาะสมกับปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าของรถ หากมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม อาทิ เครื่องเสียง ให้ใช้แบตเตอรี่ที่มีขนาดแอมแปร์สูงขึ้น
การพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์
- ปิดสวิตช์และอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดของรถ
- นำรถคันที่มีแบตเตอรี่ปกติมาจอดใกล้ๆ เพื่อต่อสายพ่วงแบตเตอรี่
- นำสายพ่วงแบตเตอรี่ขั้วบวก (สีแดง) มาต่อกับแบตเตอรี่ขั้วบวกของรถคันที่แบตเตอรี่หมด
- นำสายพ่วงแบตเตอรี่ขั้วลบ (สีดำ) มาต่อกับแบตเตอรี่ขั้วลบของรถคันที่แบตเตอรี่หมด
- นำขั้วสายพ่วงที่เหลือต่อเข้ากับส่วนที่เป็นโลหะของเครื่องยนต์หรือตัวถังของรถที่แบตเตอรี่หมด
- สตาร์ทเครื่องยนต์รถคันที่มีแบตเตอรี่ทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที แล้วเร่งเครื่องยนต์เล็กน้อย เพื่อให้แบตเตอรี่มีการไหลเวียนของประจุไฟฟ้า
- สตาร์ทเครื่องยนต์รถคันที่แบตเตอรี่หมด พร้อมเร่งเครื่องในอัตรา 1,500 – 2,000 รอบต่อนาที เพื่อตรวจสอบว่ามีประจุไฟฟ้าเข้าหลังจากการชาร์จไฟแบตเตอรี่หรือไม่
- ถอดสายพ่วงรถคันที่แบตเตอรี่หมดและถอดสายพ่วงรถคันที่มีแบตเตอรี่ปกติออก
- นำรถเข้าศูนย์บริการ เพื่อตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์และเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่
ข้อควรระวังในการพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์
- ไม่สตาร์ทเครื่องยนต์และเปิดระบบไฟของรถทั้งสองคัน เพราะจะทำให้เกิดประกายไฟ ส่งผลให้เกิดการระเบิดได้
- ไม่ต่อสายพ่วงเข้ากับขั้วลบของแบตเตอรี่ของรถคันที่แบตเตอรี่หมด เพื่อป้องกันแบตเตอรี่ระเบิด
- ห้ามสูบบุหรี่ จุดไฟแช็ก หรือก่อให้เกิดประกายไฟ เพราะในขณะต่อสายพ่วงแบตเตอรี่จะมีแก๊สบริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดการระเบิดได้
- สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตาและถุงมือทุกครั้งที่สัมผัสแบตเตอรี่ เพราะน้ำกรดในแบตเตอรี่เป็นสารกัดกร่อน ทำให้ได้รับอันตรายได้
- ระมัดระวังไม่ให้แบตเตอรี่เอียงหรือตะแคง เพราะน้ำกรดอาจรั่วไหลออกมาทางรูระบาย ก่อให้เกิดอันตรายได้
- ระมัดระวังไม่ให้ปลายสายพ่วงแบตเตอรี่สัมผัสกัน เพราะจะทำให้ไฟฟ้าลัดวงจร
แม้การพ่วงแบตเตอรี่จะสามารถทำเองได้ แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เนื่องจากแบตเตอรี่มีน้ำกรด เป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งมีคุณสมบัติกัดกร่อนพื้นผิว อีกทั้งในขณะที่แบตเตอรี่ทำงาน จะเกิดการสะสมของ ก๊าซไฮโดรเจน หากมีประกายไฟจะทำให้เกิดการระเบิดได้