ผู้มีสิทธิเลือกตั้งฯ ที่ไม่อาจไปใช้สิทธิต้องทำหนังสือแจ้งเหตุยื่นต่อ ผอ.เขตก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 7 วัน

ข่าวทั่วไป Friday November 17, 2000 09:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--กทม.
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2543 และกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ในวันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2544 นั้น สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. จะต้องมีสัญชาติไทย (หากแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี), มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี บริบูรณ์ ในวันที่ 1 มกราคม 2544 และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง รวมทั้งต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ 1. วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ 2. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช 2. ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย 4. อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่ง “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหนึ่งคน รับบัตรเลือกตั้งสองใบ กากบาทใบละเบอร์” รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า หากในวันดังกล่าวผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากกรณีดังต่อไปนี้
1. มีธุระเร่งด่วนต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
2. เจ็บป่วย
3. พิการ หรือผู้สูงอายุ
4. เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
5. มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
6. เหตุสุดวิสัยอื่นๆ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ได้ โดยทำหนังสือแจ้งเหตุฯยื่นต่อผู้อำนวยการเขต ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 7 วัน
หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปเลือกตั้งแล้วไม่แจ้งเหตุ จะต้องเสียสิทธิทางการเมือง ดังนี้
1. สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น
2. สิทธิร้องคัดค้านการเลือกกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
3. สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น
4. สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
5. สิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมาย ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
6. สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
7. สิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคล ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และ
8. สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียง เพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ