กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--ไอบีเอ็ม
แม้จะเป็นที่คาดกันว่าเจเนอเรชั่นแรกที่ "เกิดในยุคดิจิทัล" น่าจะมีแนวโน้มในการซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่า แต่ผลการศึกษาล่าสุดโดยไอบีเอ็มและสหพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติ (National Retail Federation: NRF) ของสหรัฐอเมริกา กลับพบว่าชาวเจเนอเรชั่น Z เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ชื่นชอบการซื้อสินค้าในร้านค้ามากกว่าการซื้อออนไลน์ โดยร้อยละ 66 จะเลือกร้านที่มีผลิตภัณฑ์คุณภาพและมีของพร้อมขายเสมอ ขณะที่ร้อยละ 65 ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าที่ได้รับ ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าร้อยละ 52 ของผู้บริโภคเจน Z พร้อมจะเปลี่ยนความจงรักภักดีจากแบรนด์หนึ่งไปอีกแบรนด์หนึ่งหากคุณภาพของแบรนด์ไม่ได้มาตรฐาน
การศึกษา "Uniquely Gen Z" โดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBM Institute of Business Value) เป็นการสำรวจกลุ่มเจน Z ช่วงอายุ 13-21 ปี มากกว่า 15,000 คน ใน 16 ประเทศ โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้เกิดในช่วงกลางทศวรรษ 1990 และ 2000 ถือเป็นกลุ่มที่ "เกิดในยุคดิจิทัล" และเติบโตขึ้นมาโดยไม่เคยรู้จักกับโลกในยุคก่อนที่จะมีโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ เจน Z มีกำลังซื้อถึง 154,000 ล้านบาท โดยร้อยละ 75 ของเจน Z ใช้จ่ายเงินมากกว่าครึ่งหนึ่งของเงินที่มีในแต่ละเดือน ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าประชากรเจน Z ทั่วโลกจะมีจำนวนถึง 2,600 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2020
ร้อยละ 74 ของผู้ตอบใช้เวลาว่างบนโลกออนไลน์ โดยร้อยละ 25 ออนไลน์อย่างน้อยห้าชั่วโมงในแต่ละวัน และร้อยละ 66 มักใช้อุปกรณ์สื่อสารพกพามากกว่าหนึ่งเครื่อง นอกจากนี้ การศึกษายังชี้ให้เห็นข้อมูลเชิงลึกหลายอย่างเกี่ยวกับความชอบและลักษณะนิสัยยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับแบรนด์ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเจน Z กล่าวคือ
- ร้อยละ 73 เจน Z ที่สำรวจ ใช้อุปกรณ์สื่อสารพกพาเพื่อส่งข้อความและแชทกับครอบครัวและเพื่อนๆ เป็นหลัก แต่ก็เต็มใจที่จะสนทนากับแบรนด์ต่างๆ โดยร้อยละ 42 มีแนวโน้มร่วมเล่นเกมออนไลน์ในแคมเปญต่างๆ ร้อยละ 43 มีแนวโน้มในการร่วมรีวิวผลิตภัณฑ์ ขณะที่ร้อยละ 36 มีแนวโน้มที่จะสร้างเนื้อหาดิจิทัลสำหรับแบรนด์
- เจน Z ไม่มีความอดทนต่อเทคโนโลยีที่ใช้งานยาก และต้องการประสบการณ์การใช้งานโมบายล์-ดิจิทัลแบบไร้รอยต่อ โดยเจน Z ร้อยละ 62 จะไม่ใช้แอพหรือเว็บไซต์ที่ใช้งานยากหรือโหลดช้า
- เจน Z ทราบว่าข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่มีค่าต่อแบรนด์ ดังนั้นจึงต้องการทราบว่าแบรนด์จะนำข้อมูลไปใช้อย่างไรและมีวิธีการคุ้มครองข้อมูลอย่างไร โดยมีเจน Z เพียงร้อยละ 21 ที่เต็มใจแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลสุขภาพ ตำแหน่งที่อยู่ ชีวิตส่วนตัว หรือข้อมูลเกี่ยวกับการชำระเงิน ขณะที่ร้อยละ 61 จะรู้สึกเต็มใจมากขึ้นที่จะแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคล ถ้าพวกเขาทราบว่าข้อมูลจะได้รับการคุ้มครองและจัดเก็บอย่างปลอดภัย
"เจน Z เป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่แบรนด์ต้องเตรียมรับมือ เหมือนกับเมื่อครั้งกลุ่มมิลเลนเนียลเข้ามาแทนที่เจน X หากแต่เจน Z มีขนาดใหญ่กว่าและซับซ้อนมากกว่า ผู้ซื้อกลุ่มนี้เรียนรู้ที่จะ "คลิก" ก่อนที่จะเดินหรือพูดด้วยซ้ำ แต่พวกเขากลับยังพอใจกับประสบการณ์การซื้อสินค้าในร้านค้า แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง แต่นิสัยการช็อปปิ้งบางอย่างยังคงเหมือนเดิม ดังนั้น แบรนด์ต่างๆ ต้องว่องไวและคล่องตัวมากพอสำหรับการให้บริการทั้งสองรูปแบบ" นายกิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจซอฟต์แวร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว
"เจเนอเรชั่น Z คาดหวังถึงเทคโนโลยีที่ใช้ง่าย ตอบโจทย์ความต้องการ และน่าสนใจ เหล่านี้เป็นความท้าทายให้ธุรกิจค้าปลีกและแบรนด์ต้องดึงความก้าวล้ำทางดิจิทัลมาช่วยสร้างการปฏิสัมพันธ์และประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคล คือพร้อมที่จะทดลองวิธีใหม่ๆ เพื่อให้ทันความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องตอบโจทย์เจเนอเรชั่นต่างๆ ได้ในขณะเดียวกัน"
การศึกษาพบว่าผู้บริโภคเจเนอเรชั่น Z ชอบการมีส่วนร่วมแบบออนไลน์กับแบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบรนด์ที่สร้างสภาพแวดล้อมแบบมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และเอื้อให้ลูกค้าสามารถกำหนดรูปแบบประสบการณ์ของตนเองได้ โดยธุรกิจที่ สามารถพัฒนารูปแบบการปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวได้ ย่อมสามารถเข้าถึงไอเดียน่าสนใจของชาวเจน Z และอาจนำสู่ผลิตภัณฑ์ บริการ แนวทางการสร้างความผูกพัน ตลอดจนประสบการณ์การซื้อสินค้าในรูปแบบใหม่ๆ เพราะเป็นที่รู้กันว่าเจเนอเรชั่น Z เป็นลูกค้าระดับแนวหน้าของแบรนด์ต่างๆ ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแบรนด์รับรู้และให้คุณค่าต่อความคิดเห็นของพวกเขา