กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--การยางแห่งประเทศไทย
วันนี้ (19 มกราคม 2560) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการวิจัยเกษตรกรรมเพื่อการพัฒนา ประเทศฝรั่งเศส (CIRAD) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านยางพารา ฉบับที่ 3 (Hevea Research Platform in Partnership : HRPP) มุ่งสร้างนวัตกรรมในการเพิ่มและยกระดับคุณภาพผลผลิต พัฒนานักวิจัยด้านยางพารา และผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้สามารถนำไปใช้ได้จริง พร้อมเผยแพร่ในระดับสากล ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวว่า เครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านยางพารา (Hevea Research Platform in Partnership : HRPP) เป็นศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการไทย-ฝรั่งเศส ที่ผ่านมาประเทศไทยมีหน่วยงานด้านวิจัยยางพาราทั้งภาครัฐ และสถาบันการศึกษาที่ร่วมมือทางวิชาการกับรัฐบาลฝรั่งเศส แต่เนื่องจากมีการปฏิรูปหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องยางพาราเป็นองค์กรเดียวโดยการยางแห่งประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 จึงส่งผลให้ต้องดำเนินการลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านยางพาราขึ้นใหม่ เป็นฉบับที่ 3 โดยมีเครือข่ายสมาชิก ประกอบด้วย การยางแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการวิจัยเกษตรกรรมเพื่อการพัฒนา ประเทศฝรั่งเศส (CIRAD) เพื่อร่วมกันพัฒนางานวิจัย งานวิชาการด้านยางพาราร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักในการลงนามความร่วมมือของทั้ง 4องค์กรนั้น มีความมุ่งมั่นดำเนินการพัฒนาและผลิตงานวิจัยยางพาราทั้งด้านการผลิตยาง (พันธุ์ยาง สรีรวิทยา เทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ) เศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรมยาง รวมทั้ง การพัฒนาบุคลากรของสมาชิกด้วยการส่งเสริมให้ทำงานวิจัยร่วมกับการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ในขณะเดียวกัน กยท. เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลและพัฒนายางพาราอย่างครบวงจร รวมถึงการวิจัยและพัฒนายางพารา จึงเล็งเห็นว่า การดำเนินงานดังกล่าวล้วนมีประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาวงการวิชาการ ต่อเกษตรกร สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ จะสามารถนำผลงานต่างๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตั้งระดับนโยบายจนถึงภาคปฏิบัติ
ด้าน ดร.พิศมัย จันทุมา นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา หนึ่งในคณะนักวิจัยของเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านยางพารา HRPP มีผลงานล่าสุดได้การทำวิจัยเรื่อง Agronomy and physiology of the latex production กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ จัดทำขึ้นเพื่อลดระยะเวลาการกรีดยาง เพิ่มผลผลิตยางพาราในการกรีดให้สูงขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานของคนกรีดยาง สร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพราะปัจจุบันในสภาวะที่ขาดแคลนแรงงานกรีดยาง พบว่า ควรหาแนวทางในการลดความถี่การกรีดยางโดยกรีดยาง 1 วัน หยุด 2 วัน ร่วมกับการใช้สารเคมีเร่งน้ำยางจะสามารถเพิ่มผลผลิตน้ำยางที่สูงขึ้น ซึ่งสามารถทดแทนความถี่ที่เคยกรีดยาง 2 วันหยุด 1 วัน หรือ 3 วันหยุด 1 วัน ทำให้ปริมาณการทำงานลดลง ในขณะเดียวกัน การลดความถี่ในการกรีดยางก็จะช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะต้นยางจะมีเวลาพักในการสร้างน้ำยาง 48 – 72 ชั่วโมง จะเห็นว่าผลผลิตน้ำยางต่อครั้งกรีดจะเพิ่มขึ้น 40 - 50 % ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งแรงงานการกรีดยางก็จะมีได้รายได้ในแต่ละวันเพิ่มมากขึ้น ช่วยให้ผลผลิตในการกรีดสูงขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานของคนกรีดยาง เป็นแนวทางที่สามารถนำมาเพิ่มผลผลิตยางพาราให้สูงขึ้นได้อีกด้วย
ดร.พิศมัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ซึ่งการกรีดยางโดยลดความถี่ในการกรีดยาง 1 วัน หยุด 2 วัน แต่จะเพิ่มประสิทธิภาพโดยการใช้สารเคมีเร่งน้ำยางเข้ามาแทนที่ เกษตรกรก็จะได้ผลผลิตเท่าเดิมแต่จำนวนการทำงานน้อยลง ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการฟาร์มของตนเองได้ การคิดใหม่ เน้นในเรื่องการพัฒนาสู่ "ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" ด้วยการสร้าง "ความเข้มแข็งจากภายใน" ขับเคลื่อนตามแนวคิด "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" Thailand 4.0 นำเวลาว่างไปทำประโยชน์อย่างอื่น เช่น การเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชชนิดอื่นเสริมในสวนยาง จะช่วยในการลดความเสี่ยงในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและเป็นการสร้างรายได้ในระยะยาวให้แก่เกษตรกร
และในด้าน รศ. ดร. พูนพิภพ เกษมทรัพย์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในคณะนักวิจัยของเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านยางพารา HRPP ดำเนินการวิจัยเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ยางพาราธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เผยว่า ประเทศไทยผลิตยางพารามากที่สุดในโลกและยางพาราเป็นยางธรรมชาติซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ยางพาราต้องทำการแข่งขันกับยางสังเคราะห์ เมื่อใดที่ยางสังเคราะห์มีราคาแพงยางพาราก็จะมีราคาแพงตาม แต่เมื่อใดก็ตามที่ยางสังเคราะห์มีราคาถูกยางพาราก็จะมีราคาถูกตามไปด้วย ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะมีเทคโนโลยีอื่นเข้ามา ทำให้ความต้องการใช้ปิโตรเลียมอาจจะไม่มากเท่าที่ควร จะส่งผลให้ยางสังเคราะห์ราคาถูกลง จึงควรเร่งพิจารณาพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งยางพาราของไทยเป็นยางธรรมชาติที่จะต้องให้ทุกคนทั่วโลกเห็นว่ายางพาราไทยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาที่ทำให้ทาง HRPP สนับสนุนทำงานวิจัยด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์
รศ.ดร.พูนพิภพ เกษมทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แปลงยางพาราสามารถเก็บคาร์บอนได้ไม่น้อยกว่า 10 ตันคาร์บอนต่อไร่ เมื่อนำไปคูณกับพื้นที่ปลูกยางในประเทศก็จะเป็นพื้นที่มหาศาลและปริมาณคาร์บอนที่ตรึงไว้ในต้นยางในแต่ละปีจะมีปริมาณมาก แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องดำเนินการงานวิจัยต่อไปเพื่อพิสูจน์และสร้างความเชื่อมั่นว่าต้นยางธรรมชาติสามารถจะตรึงคาร์บอนไว้ได้มากมายขนาดไหนและต้นยางพาราเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ต้นยางพารามีประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้ ถ้ายังมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อมาปลูกยาง เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่หากเป็นพื้นที่ที่ปลูกพืชอื่นๆ อยู่แล้ว หันมาปลูกยางแทนเพื่อสร้างอาชีพ ควรจะส่งเสริม และให้การสนับสนุนเพื่อที่จะทำให้ยางพาราเป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อคนไทยต่อไปในอนาคต