กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน
ประเทศไทยและเยอรมนี ร่วมฉลองครบรอบ 60 ปีความสำเร็จในการดำเนินงานด้านการพัฒนาของโครงการไทย-เยอรมัน เพื่อถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และการดำเนินงาน อันนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
ความร่วมมือไทย-เยอรมัน เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ด้วยข้อตกลงระหว่างประเทศไทยและเยอรมนีด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา 60 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศร่วมกันดำเนินงานด้านการพัฒนามากกว่า 300 โครงการในสาขาต่างๆ ได้แก่ การเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานทดแทน การพัฒนาเศรษฐกิจและการจ้างงาน สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรม ตลอดจนธรรมาภิบาล
นายเพเทอร์ พรือเกล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ความร่วมมือไทย-เยอรมัน ประสบผลสำเร็จในการปฏิบัติงานตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเราได้ถ่ายทอดการพัฒนาของประเทศไทยให้แก่ประเทศต่างๆ ด้วยการช่วยยกระดับประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำและเป็นฐานที่ตั้งของธุรกิจต่างๆ ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน สาขาหลักด้านการพัฒนาสาขาหนึ่งของเรา ก็คือ การศึกษา เริ่มแรกเกิดขึ้นจากการก่อตั้งโรงเรียนเทคนิคไทย-เยอรมันในพ.ศ.2502 โดยมีการผลิตแรงงานฝีมือ เพื่อรองรับการพัฒนาและการเติบโตของประเทศ ต่อมาโรงเรียนเทคนิคไทย-เยอรมัน พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และทุกวันนี้ยังคงเป็นสถาบันชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคอีกด้วย
ขณะที่เรายังคงร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจ ปรับปรุงคุณภาพด้านอาชีวศึกษา เราก็ได้ปรับทักษะความรู้ สู่การพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ เช่นกัน ในฐานะที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนสถานะจากการเป็นผู้รับสู่การเป็นผู้ให้การช่วยเหลือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจุบันเราจึงมุ่งเน้นไปที่การต่อสู้กับความท้าทายระดับโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เรายังมุ่งเน้นการส่งเสริมการขนส่งที่ยั่งยืน การเกษตรที่ดี การพัฒนาเมืองและธุรกิจ ด้วยความตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของความท้าทายดังกล่าว ประเทศไทยได้กลายเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานและทำกิจกรรมต่างๆ ของประเทศเยอรมนี ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก รวมทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ด้านการพัฒนาของประเทศเยอรมนีทั่วทั้งเอเชีย ได้รับการฝึกอบรมที่ศูนย์บริการฝึกอบรมของ GIZ สำนักงานกรุงเทพฯ ด้วย"
นายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า "ประเทศไทยและเยอรมนี มีความสัมพันธ์อันดีในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการในสาขาต่างๆ มากว่า 60 ปี ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในประเทศไทย มาใช้ร่วมกับแนวคิดเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคมของประเทศเยอรมนี โครงการต่างๆ ที่เกิดจากความร่วมมือด้านการพัฒนาของไทย-เยอรมันดังกล่าว ไม่เพียงแต่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความสำเร็จของโครงการเกิดจากความมุ่งมั่นร่วมมือกันของผู้ร่วมโครงการทั้งจากภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ประสบการณ์และผลสำเร็จในการดำเนินงานความร่วมมือโครงการดังกล่าวยังสามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาเป็นความร่วมมือไตรภาคี ในการช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนามและติมอร์เลสเต ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แน่นอนว่าเส้นทางแห่งความร่วมมือนี้จะยังคงดำเนินต่อไป โดยการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องเป็นไปอย่างสมดุล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และนั่นคือเป้าหมายของเรา"
หลังจากนี้ ความร่วมมือด้านการพัฒนาของทั้งสองประเทศจะยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ความสำคัญกับการเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร การปกป้องสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรม รวมทั้งการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน และประเทศไทยและเยอรมนีจะยังร่วมมือกันดำเนินโครงการเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในภูมิภาคและทั่วโลกอีกด้วย