กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ชี้ หากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ใช้นโยบายกีดกันการค้าทันทีหลังถูกแต่งตั้ง ผลกระทบต่อไทยในระยะสั้นจะยังคงมีไม่มาก โดยจะส่งผลเสียต่อสินค้าเคมีภัณฑ์ ชื้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ แต่จะส่งผลดีต่อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และอุปกรณ์การแพทย์ รวมแล้วคิดเป็นความเสียหายสุทธิ 16,000 ล้านบาท หรือราวร้อยละ 0.2 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยในปีนี้
ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายต่างๆในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์ ว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้มากน้อยแค่ไหน การกล่าวสุนทรพจน์ ในวันรับตำแหน่งจะช่วยสร้างความชัดเจนในนโยบายโดยเฉพาะในด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งทรัมป์มองว่านโยบายการค้าเสรีของสหรัฐฯที่มีมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีรูสเวลท์ เปิดช่องให้คู่ค้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อประโยชน์ทางการค้าและสร้างสภาวะการค้าขาดดุลกับสหรัฐฯ เฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาเป็นมูลค่ามหาศาลกว่า 8 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยขาดดุลกับจีนเป็นอันดับหนึ่ง ถึง 3 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราวร้อยละ 40 ของการขาดดุลทั้งหมด (ส่วนกับไทยขาดดุลเป็นอันดับ 12 เพียง 15,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 เท่านั้น) ทรัมป์จึงมองว่าการกีดกันทางการค้ากับจีนจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม หลังได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ กฎหมายของสหรัฐฯ มอบอำนาจที่ค่อนข้างจำกัดให้ประธานาธิบดีสามารถใช้ได้ทันทีโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาครองเกรส โดยหากยึดตามกฏหมายการค้า (Trade Act of 1974, section 122) ประธานาธิบดีสามารถตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากับประเทศที่มีการขาดดุลในปริมาณมาก สูงสุดที่ร้อยละ 15 และ/หรือ กำหนดโควต้า เป็นเวลาสูงสุด 150 วันเท่านั้น ไม่ใช่ที่ร้อยละ 45 ตามที่ได้กล่าวไว้ตอนหาเสียง ดังนั้นผลกระทบที่แท้จริงหากทรัมป์ตัดสินใจใช้มาตรการดังกล่าวทันที จึงอาจไม่มากนักเหมือนที่หลายฝ่ายกังวล
ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าผลกระทบต่อการส่งออกไทยจะเป็นในทางอ้อม จากการที่สหรัฐฯ จะตั้งกำแพงภาษีกับจีน ซึ่งจะกระทบสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การอุปทานที่ไทยส่งไปจีน และจีนส่งต่อไปสหรัฐฯ โดยสินค้าดังกล่าวเป็นประเภทวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอเป็นหลัก คาดการณ์มูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 0.6 หรือ ประมาณ 49,000 ล้านบาท อย่างไรก็มาตรการดังกล่าวมีผลดีเช่นกัน กล่าวคือ การที่สินค้าของจีนถูกกีดกัน สินค้าไทยในประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียง ย่อมมีโอกาสมาทดแทนสินค้าจีนนั้นๆได้ ซึ่งหลักๆเป็นประเภท เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และอุปกรณ์การแพทย์ คาดการณ์มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 หรือประมาณ 33,000 ล้านบาท ดังนั้น หากชั่งน้ำหนักผลกระทบทั้งสองด้านแล้ว พบว่าส่งออกไทยจะเสียหายเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 ทำให้มูลค่าส่งออกในปีนี้ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 เหลือ ร้อยละ 1.3
อย่างไรก็ตามในระยะยาว เป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะตั้งกำแพงภาษีได้สูงถึงร้อยละ 45 หากสภาครองเกรสมีมติเห็นชอบกับนโยบายดังกล่าว ผลกระทบกับไทย จึงอาจสูงขึ้นกว่าประมาณการณ์ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรปรับตัวด้วยกลยุทธ์ต่างๆ อาทิ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต การย้ายฐานไปในทำเลที่ได้เปรียบเชิงภาษี หรือหาวิธีเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และให้ความสำคัญกับตลาดในภูมิภาค โดยภาครัฐควรเร่งเจรจาส่งเสริมการค้าระหว่างภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะการรวมกลุ่ม RCEP (ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน)