กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ และการช่วยเหลือชาวประมงผู้ประสบภัยน้ำท่วม ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเข้ารับฟังบรรยายสรุปภาพรวมผลกระทบจากอุทกภัยในภาคประมง สวนปาล์ม และสวนยางพาราจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องรับรองท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานี ก่อนเดินทางต่อไปยังจุดจอดเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว ณ บริษัท ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด เพื่อขึ้นบินสำรวจดูสถานการณ์ผลกระทบอุทกภัยในภาคประมง บริเวณพื้นที่ อ.พุนพิน อ.กาญจนดิษฐ์ และ อ.เมือง จากนั้นคณะได้ออกเดินทางโดยเรือตรวจกรมประมง เพื่อไปตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ณ คลองท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร และมอบนโยบาย แนวทางการช่วยเหลือ ในช่วงบ่าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำในลุ่มตาปี ณ โครงการชลประทานสุราษฎร์ธานี หลังจากนั้น เดินทางไปยังจุดติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเข้าฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานแก้ไขอุทกภัย และระบายน้ำ ณ ต.คลองน้อย และ ต.ศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี พล.อ.ฉัตรชัย เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องชาวใต้ที่กำลังความเดือดร้อน ท่านได้ย้ำให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งสำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตรทั้งหมดให้ชัดเจน 3 - 5 วันต้องจบ หากล่าช้าไปการช่วยเหลือมีปัญหาได้ เพราะจำเป็นต้องฟื้นฟูภายหลังน้ำลดทันที ขณะเดียวกัน ต้องช่วยเร่งระบายสูบน้ำออกจากพื้นที่เกษตรเพื่อไม่ให้เสียหายมากขึ้น ที่สำคัญเรื่องความช่วยเหลือจากรัฐบาล นอกจากมาตรการเยียวยา 3,000 บาท และเงินช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติที่จะเสนอเข้าครม. ในวันอังคารหน้าแล้ว กระทรวงเกษตรฯ จะพิจารณามาตรการเพิ่มเติมโดยใช้เงินกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร ที่มีอยู่ 2 พันกว่าล้านบาท ซึ่งจะต้องหาวิธีการ และหลักเกณฑ์รองรับ เพื่อให้ความช่วยเงินได้ครอบคลุมมากขึ้น
สำหรับข้อมูลผลกระทบเบื้องต้นของภาคประมงในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ 126 อำเภอ ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 59 – 16 ม.ค.60 เกษตรกรจำนวน 20,906 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงรวม 38,001 ไร่ แบ่งเป็น ปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ 28,606 ไร่ กุ้งก้ามกราม ,กุ้งทะเล, ปูทะเล, และหอยทะเล รวม 9,395 ไร่ ปลาในกระชังและบ่อซีเมนต์ 95,116 ตรม. ซึ่งมาตรการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างเร่งดำเนินมาตรการเยียวยาฯ ครัวเรือนละ 3,000 บาท และเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงคลังฯ ให้แก่ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว โดยในส่วนของจังหวัดสุราษฏร์ธานีเป็นหนึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบด้านประมงค่อนข้างมาก โดยมีพื้นที่ประสบภัยรวม 17 อำเภอ เกษตรกร 5,421 ราย พื้นที่ 5,938.44 ไร่ กระชัง 2,111 ตร.ม. จากจำนวนเกษตรกรทั้งสิ้น 8,820 ราย พื้นที่ทำการประมง 38,500 ไร่ กระชัง 4,040 ตร.ม. ซึ่งมาตรการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างเร่งดำเนินมาตรการเยียวยาฯ ครัวเรือนละ 3,000 บาท จำนวน 265 ครัวเรือน วงเงิน 16 ล้านบาท และเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงคลังฯ ให้แก่ชาวประมงในพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานีจำนวน 5,421 ราย วงเงินประมาณ 31 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงได้กำหนดโรดแมปแผนฟื้นฟูภาคประมงโดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ แผนระยะสั้นและระยะปานกลาง โดยกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ ได้แก่ การจัดคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ การฟื้นฟูพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกร สนับสนุนปัจจัยการผลิตและพันธุ์สัตว์น้ำ รวมถึงแหล่งสินเชื่อแบบผ่อนปรนด้วย
ด้านนายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นั้น กรมชลปะทาน มีโครงการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการศึกษาพิจารณาโครงการไว้แล้ว อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำปากหมก ความจุ 19 ล้านลูกบาศก์เมตร บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ อ.ไชยา และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนไว้ใช้ฤดูแล้ง สนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้กว่า 21,000 ไร่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองท่าทอง ความจุ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าทอง อ.กาญจนดิษฐ์ และอ.ดอนสัก เป็นแหล่งน้ำต้นทุนไว้ใช้ฤดูแล้ง สนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้กว่า 37,500 ไร่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองตาล ความจุ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ อ.เวียงสระ ช่วยตัดยอดน้ำในลุ่มน้ำตาปี และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนไว้ใช้ฤดูแล้ง สนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้ 16,000 ไร่ โครงการแก้มลิงทุ่งปากขอ พื้นที่ประมาณ 9,000 ไร่ ตั้งอยู่ อ.บ้านนาเดิม แหล่งน้ำต้นทุนไว้ใช้ฤดูแล้งและเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำตาปีได้ส่วนหนึ่งด้วย
ด้านนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสวนยาง 7 แสนกว่าไร่ เสียหายจากน้ำท่วม โดยที่ จ.สุราษฎร์ 2.9 แสนไร่ เป็นยางกลาง ถึงยางเปิดกรีด น้ำท่วมอยู่ได้ 1 เดือน ซึ่งแนวทางดำเนินการให้คำแนะนำการบำรุงฟื้นฟูต้น ชดเชยให้ปลูกแทน และชดเชยรายได้เฉพาะหน้า รายละ 3 พันบาท จะสำรวจพื้นที่เสียหาย ทั้งหมดภายในสิ้นเดือน ม.ค. ดำเนินการปลูกแทน จ่ายเงินเกษตรกรภายเดือน มี.ค. ลดการปลูกในพื้นที่ท่วมซ้ำซาก