กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--Triple J Communication
จากปรากฎการณ์ 3 ที่สุดพลังงานไทย ลดค่าไฟฟ้าสูงสุด 52.98 สตางค์ต่อหน่วย ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสูงเป็นประวัติศาสตร์กว่า 1,701 เมกะวัตต์ และนำเงินส่งเข้ารัฐสูงถึง 195,000 ล้านบาท พร้อมเสริมฐานความมั่นคงพลังงานและโครงการประชารัฐ
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานพร้อมจะสานต่อผลงานปี 2559 ซึ่งถือเป็นปีที่ได้สร้างปรากฎการณ์สำคัญไว้ คือเกิด 3 ที่สุดด้านพลังงาน ได้แก่ 1.) การลดค่าไฟฟ้าสูงสุดถึง 52.98 สตางค์ต่อหน่วย (ต่อเนื่องปี 58-59) ส่งผลให้ภาพรวมของประเทศลดค่าไฟฟ้าได้สูงถึง 92,103 ล้านบาท ช่วยลดค่าครองชีพประชาชนและเพิ่มการแข่งขันให้ภาคธุรกิจ 2.) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสูงสุดในประวัติศาสตร์ โดยมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากถึง 1,701 เมกะวัตต์ มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ สูงสุด 1,320 เมกะวัตต์ ชีวมวล 70 เมกะวัตต์ ลม 70 เมกวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 70 เมกะวัตต์ ขยะ 20 เมกะวัตต์ และพลังน้ำขนาดเล็ก 1 เมกะวัตต์ (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) และ 3.) การส่งเงินจากภาษีสรรพสามิตน้ำมันเข้าคลังประเทศสูงสุด 195,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลงานในปี 2559 ที่มีความโดดเด่น นอกจาก 3 ที่สุดดังกล่าว ยังมีการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อเสริมฐานความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่สัมฤทธิ์ผล อาทิ ลอยตัว NGV เปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG พัฒนาระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ อนุมัติท่อก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 ผลักดันกฎหมายการออกแบบอาคารเพื่อการประหยัดพลังงาน (BEC.) มาตรการด้านการเงินเพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การริเริ่มนโยบาย Energy 4.0 นอกจากนี้กระทรวงพลังงาน ยังได้ขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐ ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ติดตั้งระบบสูบน้ำแสงอาทิตย์ 900 ระบบช่วยต้านภัยแล้ง เพิ่มรายได้ชุมชนด้วยการติดตั้งระบบอบแห้งแสงอาทิตย์ 30 โครงการ ยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านโครงการพลังน้ำชุมชน 8 โครงการ 420 กิโลวัตต์ เป็นต้น
นายทวารัฐ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายเด่นๆ ในปี 2560 ซึ่งขณะนี้ได้มีความพร้อมแล้ว ได้แก่ นโยบายเพื่อรองรับ Thailand 4.0 ของรัฐบาล ภายใต้นโยบาย Energy 4.0 ซึ่งจะมีโครงการสำคัญๆ คือ การขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่คาดว่าจะเกิดสถานี EV. 150 สถานี/หัวชาร์ท การผลักดันเมืองอัจฉริยะ (Smart city) ซึ่งจะมีการเลือกเฟ้น 7 สุดยอดเมืองประหยัดพลังงาน การพัฒนาระบบจัดเก็บพลังงานหรือ Energy Storage (ESS) ซึ่งจะเกิดงานวิจัยและส่งเสริมการลงทุนตั้งโรงงานผลิต รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ เช่น SPP Hybrid Firm และ VSPP ชุมชน
โดยในปี 2560 ถือว่าเป็นปีทองแห่งการอนุรักษ์พลังงาน และส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจลดภาระค่าไฟฟ้าได้ โดยเบื้องต้นได้มีกรอบงบประมาณเพื่อส่งเสริมงานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน 1,200 ล้านบาท สำหรับโครงการที่สำคัญๆ การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระบบจัดเก็บพลังงาน (ESS) โครงการเงินอุดหนุนรวม (Block Grant) เพื่อปรับปรุงอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง วัสดุเพื่อการประหยัดพลังงาน ในกลุ่มอาคารภาครัฐ โรงพยาบาล การสนับสนุนอาคารที่มีการออกแบบให้ใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) รวมทั้งในปี 2560 นี้ กระทรวงพลังงานจะมีนโยบาย "Demand Response" ที่จะส่งสัญญาการรับซื้อผลประหยัดพลังงาน ตามช่วงเวลาที่รัฐกำหนด
นอกจากนี้ ในปี 2560 นี้ กระทรวงพลังงาน คาดว่าการพิจารณา พ.ร.บ. ปิโตรเลียม จะได้รับการตอบรับในทางบวกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคาดว่าจะเกิดความชัดเจนที่จะเป็นก้าวสำคัญ ในการผลักดันให้เกิดการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งความชัดเจนของการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียม ที่ใกล้สิ้นอายุสัมปทาน ซึ่งกระทรวงพลังงานจะสามารถขับเคลื่อนตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) ที่จะช่วยให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตต่อไป