กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช.
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) จะประกาศค่าคะแนน Corruption Perceptions Index (CPI) ของปี 2559 ในวันพุธที่ 25 มกราคม 2560 นี้ ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการ วัดค่า CPI ที่วัดดัชนีการรับรู้การทุจริตประเทศไทย จาก 8 แหล่งข้อมูลโดยตอนที่ 3 นี้ จะพูดถึงแหล่งข้อมูล WJP
World Justice Project Rule of Law Index (WJP) เป็นดัชนีชี้วัดที่ให้ความสำคัญกับระบบนิติธรรม (Rule of Law) เป็นหลัก มีการคิดระดับคะแนนอยู่ระหว่าง 0 – 1 โดยการประเมินตัวชี้วัดดังกล่าวครอบคลุม 102 ประเทศทั่วโลก โดยมี World Justice Project ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี และเมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้จัดการประเมิน
เนื่องจากการประเมินดัชนีชี้วัดดังกล่าวให้ความสำคัญกับระบบนิติธรรม (Rule of law) ซึ่งมีหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ 1) รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและถูกตรวจสอบได้ 2) กฎหมายต้องเปิดเผย มีความชัดเจน มั่นคงปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน 3) กระบวนการทางกฎหมายมีความเป็นธรรมและ มีประสิทธิภาพ และ 4) การตัดสินคดีต้องมีความเป็นธรรม มีจริยธรรม มีความเป็นกลางซึ่งจากหลักการดังกล่าวได้มีการพัฒนาเป็นหลักเกณฑ์ย่อย 8 ประการ ได้แก่ ๑) อำนาจของรัฐบาลที่มีขีดจำกัด ๒) การปราศจากการคอร์รัปชัน ๓) รัฐบาลที่เปิดกว้าง ๔) สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ๕) ความสงบเรียบร้อยของสังคม ๖) การบังคับใช้กฎหมาย ๗) กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง และ ๘) กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยหลักเกณฑ์ต่าง ๆ สะท้อนผ่านคำถาม จากแบบสอบถามที่แบ่งออกเป็นหลายด้าน อาทิ แบบสอบถามแสดงความคิดเห็นทั่วไป แบบสอบถามที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพของประชาชน และกฎหมายอาญา แบบสอบถามที่เกี่ยวกับกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ แบบสอบถามที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน แบบสอบถามที่เกี่ยวกับระบบสาธารณสุข
World Justice Project Rule of Law Index (WJP) เป็น ๑ ใน ๘ แหล่งข้อมูลที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency lnternational (TI) นำไปใช้ประเมินคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index :CPI) ของประเทศไทย โดย TI จะนำค่าคะแนนของแหล่งข้อมูล WJP ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันและการใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมาคำนวณค่าคะแนน CPI เป็นหลัก โดยค่าคะแนนดังกล่าวจะสะท้อนมาจากการตอบแบบสอบถามและการให้สัมภาษณ์ ของผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ เกี่ยวกับการคอร์รัปชันหรือการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินงานในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การให้บริการประชาชนของเจ้าหน้าที่รัฐ ระบบสาธารณสุข การจัดทำโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล การบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น ซึ่งหากมีการคอร์รัปชันหรือการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนมากในภาคส่วนใด ย่อมส่งผลให้การดำเนินงานของภาครัฐในส่วนนั้นไร้ประสิทธิภาพ
ดังนั้น แม้การประเมินค่า CPI จะเน้นในด้านการคอร์รัปชันเป็นหลัก แต่จะมีความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องคอร์รัปชันกับหลักเกณฑ์อื่น ๆ ของ WJP ด้วย การยกระดับค่าคะแนนจึงต้องดูในภาพรวมทั้ง ๘ หลักเกณฑ์ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานราชการ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการและฝ่ายปกครองในการยกระดับค่าคะแนน
ค่าคะแนน CPI ของไทยจากแหล่งข้อมูล WJP 4 ครั้งหลังสุด
ปี ๒๕๕5 ๒๕๕6 ๒๕๕7 ๒๕๕8
คะแนน 33 33 44 26
แนวทางการยกระดับค่า WJP
การยกระดับค่าคะแนน WJP เพื่อให้ส่งผลดีต่อการยกระดับค่าคะแนน CPI ย่อมไม่สามารถทำได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งส่วนราชการภาคเอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม โดยให้ความสำคัญกับระบบธรรมาภิบาล กระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน การส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบ การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความโปร่งใสในกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ อาทิ การจำแนกประเภทคดีและจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีทุจริต การกำหนดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดี กำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาคดีอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้มีการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การกำหนดให้ทุกหน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูล ในระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งระบบเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อลดปัญหาการทุจริต ซึ่งแนวทางเหล่านี้ล้วนนำไปสู่การยกระดบค่าคะแนน CPI ในอนาคตทั้งสิ้น