กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานยังคงมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราชสุราษฎร์ธานี พัทลุง ยะลา สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 38 อำเภอ 205 ตำบล 1,159 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรเร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 22 – 25มกราคม 2560 ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักหลายพื้นที่ ประกอบกับกรมทรัพยากรธรณีคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 21 – 22ม.ค. 60 อาจเกิดดินไหล ดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัย ปภ.จึงได้ประสานจังหวัด 9 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราชสุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและฝนตกสะสม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ว่า ฝนที่ตกหนักตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีจังหวัดได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด รวม 122 อำเภอ 755 ตำบล 5,812 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 563,616 ครัวเรือน 1,725,714 คน ผู้เสียชีวิต83 ราย ผู้สูญหาย 4 ราย ถนน 4,314 จุด คอสะพาน 348 แห่ง ท่อระบายน้ำ 243 แห่ง ฝาย 126 แห่ง อ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง สถานที่ราชการเสียหาย 25 แห่ง โรงเรียน 2,336 แห่ง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กระบี่ ตรัง ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ยังคงมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ยะลา สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 38 อำเภอ205 ตำบล 1,159 หมู่บ้าน โดยนครศรีธรรมราช มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหัวไทร อำเภอปากพนัง และอำเภอเชียรใหญ่ รวม 38 ตำบล 337 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 49,731 ครัวเรือน 167,963 คน อพยพ 35 ครัวเรือน 175 คน ผู้เสียชีวิต 25 รายสุราษฎร์ธานีมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพุนพิน อำเภอเคียนซา และอำเภอบ้านนาเดิม รวม 11 ตำบล 28 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,851 ครัวเรือน 5,727 คน ประชาชนอพยพ 55 ครัวเรือน 185 คน ผู้เสียชีวิต 15 ราย พัทลุง มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอควนขนุน อำเภอบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน และอำเภอเมืองพัทลุง รวม 7 ตำบล 20 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ27,274 ครัวเรือน 64,018 คน ผู้เสียชีวิต12 ราย ยะลา มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยะลา อำเภอรามัน และอำเภอยะหา รวม 24 ตำบล 109 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,307 ครัวเรือน 13,881 คน อพยพ 49 ครัวเรือน สงขลา มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอควนเนียง อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด รวม 15 ตำบล 82 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,880 ครัวเรือน 26,715 คน ผู้เสียชีวิต 8 ราย ปัตตานีมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอมายอ อำเภอแม่ลาน อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี อำเภอไม้แก่น และอำเภอโคกโพธิ์รวม 44 ตำบล 175 หมู่บ้าน 6 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,657 ครัวเรือน 15,897 คน อพยพประชาชน 17 คน นราธิวาส มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอตากใบ อำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอศรีสาคร อำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงปาดี อำเภอจะแนะ และอำเภอเจาะไอร้อง รวม 66 ตำบล 408 ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,212 ครัวเรือน111,691 คน ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งสาธารณประโยชน์สถานที่ราชการ และซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค รวมถึงเส้นทางคมนาคมให้ใช้งานได้ตามปกติ ตลอดจนเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยที่ครอบคลุมทั้งด้านการดำรงชีพ ชีวิตและทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์ อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ส่งผลให้ช่วงวันที่ 22 – 25 มกราคม 2560 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ในภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ประกอบกับกรมทรัพยากรธรณีคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 21 - 22 มกราคม 2560อาจเกิดดินถล่ม ดินไหล และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำตาปี ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันออก ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันตก และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 9 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที สำหรับผู้ประกอบการทางน้ำและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งต่อไปอีก 2 – 3 วัน
ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป