กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ภาพรวมอุทกภัยภาคใต้คลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กระบี่ ตรัง ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ ยังคงมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ยะลา สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส นายกรัฐมนตรีห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ สั่งการ บกปภ.ช. ประสานจังหวัดสำรวจข้อมูลความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะการจ่ายเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพให้ดำเนินการในทันที ส่วนบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยให้ตรวจสอบโดยละเอียด พร้อมระบุพื้นที่เป้าหมายสำหรับวางแผนให้การช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม ขณะที่ด้านการเกษตร ให้สำรวจตามหลักเกณฑ์ และจ่ายเงินชดเชยตามระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้จังหวัดยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยผู้ประสบภัยจะได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง เท่าเทียม ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน พร้อมให้จังหวัดดูแลประชาชนให้มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ และสถานศึกษาต้องเปิดการเรียนสอน ให้นักเรียนได้เรียนอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่
นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าส่วนอำนวยการ ภายใต้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช. ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) 14 ส่วนงานเข้าร่วมประชุมฯ สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมคลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กระบี่ ตรัง ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ ยังคงมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ยะลา สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 38 อำเภอ 205 ตำบล 1,159 หมู่บ้าน ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 22 - 25 มกราคม 2560 จะมีฝนหนักถึงหนักมากใน 6 จังหวัดพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 – 3 เมตร บกปภ.ช. จึงได้กำชับจังหวัดดังกล่าวเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที รวมถึง แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ พร้อมติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ชาวเรือควรระมัดระวังการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2560
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ ภายใต้ บกปภ.ช. เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้สั่งการให้ บกปภ.ช. ประสานกระทรวงพาณิชย์ในการจัดส่งข้าวสารของรัฐบาลไปยังพื้นที่ประสบภัย ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายตามที่จังหวัดกำหนดโดยเร็ว สำหรับผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยทั้ง 83 ราย ได้ดำเนินการจ่ายเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพ แก่ครอบครัวแล้ว 82 ราย อีก 1 ราย อยู่ระหว่างการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลและดำเนินการทางนิติเวช ในส่วนบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากการสำรวจในเบื้องต้นจำนวน 5,459 หลัง ได้กำชับ ให้จังหวัดเร่งตรวจสอบข้อมูลและจัดทำบัญชีความเสียหายของบ้านเรือนประชาชนโดยละเอียด แยกเป็น เสียหายทั้งหลัง และเสียหายบางส่วน พร้อมระบุพื้นที่เป้าหมาย ให้ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยปฏิบัติวางแผนการให้ช่วยเหลือและซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ประชาชนได้อย่างเหมาะสม ภายใต้การมีส่วนร่วมของเจ้าของบ้าน หน่วยทหาร หน่วยงานภาครัฐ นักศึกษาอาชีวะ และเครือข่ายช่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่ง บกปภ.ช. ได้ประสานขอยกเว้นการปฏิบัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนอกเขตที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสามารถสนับสนุนการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ ด้านการเกษตร ให้ดำเนินการสำรวจความเสียหาย ตามหลักเกณฑ์ และจ่ายเงินชดเชยตามระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านชลประทาน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัดดำเนินการสำรวจ หากจำเป็นต้องปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างหลัก โดยเฉพาะจุดรับน้ำ ระบบระบายน้ำ ถนนที่กีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแนวทางแก้ไขปัญหา โดยวาง ท่อระบายน้ำลอดใต้ถนน (Block Convert) หรือเสริมผิวจราจรบนเส้นทางที่น้ำท่วมซ้ำซาก ขอให้จังหวัดเสนอโครงการผ่าน บกปภ.ช. เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะยาว ควบคู่กับการเสนอของบประมาณจากหน่วยงานหลักในมิติเชิงภารกิจ อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้จังหวัดยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยผู้ประสบภัยจะได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง เท่าเทียม ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน ซึ่งจังหวัดต้องจัดสรรงบประมาณให้อำเภอที่ประสบภัยอย่างน้อย 500,000 บาท หากสถานการณ์ขยายวงกว้างและไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือให้อำเภอเสนอเรื่อง ผ่าน ก.ช.ภ.อ. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาจัดสรรเพิ่มเติมตามความเหมาะสม ทั้งนี้ หากจังหวัดสำรวจความเสียหายครบถ้วนแล้วประเมินว่างบประมาณ ที่ได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอต่อการเยียวยาผู้ประสบภัย ให้ประมาณการวงเงินที่จะขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม พร้อมเสนอเรื่องผ่านกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย เพื่อจะได้รวบรวมเสนอกระทรวงการคลังต่อไป นอกจากนี้ บกปภ.ช. ได้เน้นย้ำให้จังหวัดจัดหาน้ำสะอาดบริการประชาชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะระบบประปาที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน ด้วยการนำรถผลิตน้ำดื่มและรถส่งน้ำแบบเคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชน ส่วนผลกระทบต่อสถานศึกษา ขณะนี้สามารถเปิดการเรียนการสอนได้แล้วร้อยละ 99 สำหรับสถานศึกษาที่ยังมีปัญหาให้จังหวัดร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อให้นักเรียนได้เรียนหนังสืออย่างต่อเนื่อง