กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ กำชับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เฝ้าระวังดินโคลนถล่มในวันที่ 20 ม.ค.60ภาพรวมอุทกภัยภาคใต้เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวัง 4 จังหวัดที่ยังมีน้ำท่วมขัง ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา พร้อมเน้นย้ำจังหวัดเร่งสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 3 ระดับ แยกเป็น พื้นที่วิกฤต พื้นที่เฝ้าระวัง และพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลาย เพื่อกำหนดแนวทางการรับมือและแก้ไขปัญหาได้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ นอกจากนี้ให้ประเมินและรวบรวมข้อมูล ความเสียหายที่ครอบคลุมทั้งด้านชีวิต ด้านทรัพย์สินและที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภค ด้านคมนาคมและสิ่งสาธารณประโยชน์ สถานที่ราชการและศาสนสถาน รวมถึงให้จังหวัดจัดทำแผนฟื้นฟูเชิงโครงสร้างในภาพรวมทั้งระบบ เพื่อเสนอต่อที่ประชุม กปภ.ช. พิจารณาต่อไป
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและ ดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช.ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุน การปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) 14 ส่วนงานเข้าร่วมประชุม ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝน พบว่า ในช่วงวันที่ 19-21 ม.ค.60 แม้ปริมาณฝนตกในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนจะเริ่มลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมาบางแห่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม สำหรับในช่วงวันที่ 22 – 25 ม.ค.60 พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส บกปภ.ช. จึงได้กำชับจังหวัดดังกล่าว ติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำ จุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานการประชุม บกปภ.ช. เปิดเผยว่า ในภาพรวมสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ภาคใต้เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องเฝ้าระวังพื้นที่ที่ยังมีฝนตกปานกลางถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ ที่ยังมีน้ำท่วมขังในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา เนื่องจากยังมีมวลน้ำในพื้นที่ปริมาณมาก ประกอบกับในระยะนี้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 25 ม.ค.60 บกปภ.ช. จึงได้กำชับให้จังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกลงมาซ้ำเติมให้สถานการณ์ขยายวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ ให้เร่งสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ แยกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1) พื้นที่วิกฤต ให้ดูแลด้านการดำรงชีพของผู้ประสบภัยทั้งที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว จุดอพยพ และบ้านเรือนประชาชน การแจกจ่ายอาหาร น้ำดื่มสะอาด และยารักษาโรค การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2) พื้นที่เฝ้าระวัง ให้ระดมเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำเข้าประจำพื้นที่ เพื่อให้พร้อมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย และ 3) พื้นที่ ที่สถานการณ์คลี่คลาย ให้เร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยโดยเร็วตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้เจ็บป่วย การจ่ายเงินเยียวยาและซ่อมแซมกรณีบ้านเรือนเสียหายบางส่วนและทั้งหลัง การชดเชยเกษตรกรที่พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมถึงการซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ที่เสียหายให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ให้แต่งตั้งคณะทำงานในพื้นที่ดำเนินการสำรวจสิ่งปลูกสร้างและสิ่งสาธารณประโยชน์ที่กีดขวางทางน้ำไหลผ่าน เพื่อกำหนด แนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เหมาะสม
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ ภายใต้ บกปภ.ช.กล่าวว่า บกปภ.ช.ได้ประสานให้จังหวัดดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหาย โดยแยกตามประเภทพร้อมกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ อย่างชัดเจน ครอบคลุมทั้งด้านชีวิต ให้สำรวจข้อมูลและสถานภาพของผู้เสียชีวิต พร้อมเร่งจ่ายเงินค่าจัดการศพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตโดยเร็ว ด้านทรัพย์สินและที่อยู่อาศัย ให้แยกประเภทความเสียหายของบ้านเรือนเป็นเสียหายทั้งหลังและเสียหายบางส่วน (เสียหายน้อยและเสียหายมาก) เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เหมาะสม ในส่วนของระบบสาธารณูปโภค อาทิ ไฟฟ้า ประปา ต้องใช้งานได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจุดที่ชำรุดให้เร่งซ่อมแซมหรือวางแผนแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ สำหรับด้านคมนาคมและสิ่งสาธารณประโยชน์ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำแผนแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยเฉพาะถนนที่กีดขวางทางน้ำให้ทำท่อระบายน้ำลอดใต้ถนน (block convert) รวมถึงการเบี่ยงทางไหลของน้ำ ขณะที่สถานที่ราชการและศาสนสถาน ให้ดำเนินการซ่อมแซมเพื่อเปิดบริการประชาชนได้ตามปกติ ที่สำคัญ ให้จังหวัดจัดทำแผนฟื้นฟูเชิงโครงสร้างในภาพรวม ทั้งระบบ เพื่อ บกปภ.ช. จะได้รวบรวมเสนอแผนต่อที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) พิจารณาต่อไป