กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ยังคงมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราชสุราษฎร์ธานี พัทลุง ตรัง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา รวม 28 อำเภอ 140 ตำบล 872 หมู่บ้านทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรเร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 20 - 22 มกราคม 2560 ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ปภ.จึงได้ประสานจังหวัด 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ว่า ฝนที่ตกหนักตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีจังหวัดได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด รวม 122 อำเภอ 755 ตำบล 5,812 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 563,616 ครัวเรือน 1,725,714 คน ผู้เสียชีวิต 80 ราย ผู้สูญหาย 4 ราย ถนน 4,314 จุด คอสะพาน 348 แห่ง ท่อระบายน้ำ 243 แห่ง ฝาย 126 แห่ง อ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง สถานที่ราชการเสียหาย 25 แห่ง โรงเรียน 2,336 แห่ง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 5 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ระนอง นราธิวาสปัตตานี และกระบี่ ยังคงมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ตรัง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา รวม 28 อำเภอ 140 ตำบล 872 หมู่บ้าน โดยนครศรีธรรมราช มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากพนัง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอชะอวด รวม 42 ตำบล 362 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 72,647 ครัวเรือน 230,135 คน อพยพ 36 ครัวเรือน 141 คน ผู้เสียชีวิต 23 ราย สุราษฎร์ธานี มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพุนพิน อำเภอเคียนซาและอำเภอบ้านนาเดิม รวม 12 ตำบล 32 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,179 ครัวเรือน 7,162 คน ประชาชนอพยพ 55 ครัวเรือน185 คน ผู้เสียชีวิต 15 ราย พัทลุง มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอควนขนุน อำเภอบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน และอำเภอเมืองพัทลุง รวม 6 ตำบล 17 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,274 ครัวเรือน 64,018 คน ผู้เสียชีวิต 11 ราย บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 4 หลังเสียหายบางส่วน 29 หลัง ตรัง มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง และอำเภอกันตัง รวม 12 ตำบล40 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,182 ครัวเรือน 36,535 คน ผู้เสียชีวิต 3 ราย ชุมพร มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอละแม อำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ อำเภอทุ่งตะโก อำเภอสวี และอำเภอเมืองชุมพร รวม 30 ตำบล 99 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,024 ครัวเรือน 1,095 คน ผู้เสียชีวิต 3 ราย ผู้สูญหาย 4 ราย ประจวบคีรีขันธ์ มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อยอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอทับสะแก รวม 23 ตำบล 240 หมู่บ้าน 2 เทศบาล 25 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ30,810 ครัวเรือน 66,486 คน ผู้เสียชีวิต 5 ราย สงขลา มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอควนเนียง อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด รวม 15 ตำบล 82 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,880 ครัวเรือน 26,715 คน ผู้เสียชีวิต 8 ราย ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งสาธารณประโยชน์สถานที่ราชการ และซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค รวมถึงเส้นทางคมนาคมให้ใช้งานได้ตามปกติ ตลอดจนเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยที่ครอบคลุมทั้งด้านการดำรงชีพ ชีวิตและทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์ อย่างไรก็ตามจากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้นทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยช่วงวันที่ 20 – 22 มกราคม 2560 จะมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนช่วงวันที่ 22 – 25 มกราคม 2560 จะมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ประกอบกับยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสานจังหวัดดังกล่าว และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็ววัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป